วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เคราะห์กรรมมิอาจย่ำยี

เคราะห์กรรมมิอาจย่ำยี
พระไพศาล วิสาโล
       ไม่มีรัฐบุรุษหรือประมุขประเทศคนใดในโลกยุคใหม่(หรืออาจรวมถึงโลกยุคเก่าด้วย)ที่เคยติดคุกนานเท่ากับเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ที่เพิ่งจากไป
๒๗ ปีในเรือนจำอุกฉกรรจ์นั้นนานเกือบเท่าครึ่งชีวิตของคนส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา  แมนเดลาต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในวัย ๔๕ ปีขณะที่ลูกสองคนซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่สองยังเล็กมาก  ตลอดเวลาดังกล่าวเขาแทบไม่ได้เห็นหน้าลูกเลย  อีกทั้งยังไม่สามารถไปร่วมงานศพของแม่และลูกชายคนโตได้  ยังไม่ต้องพูดถึงการถูกกระทำอย่างไร้ความปรานีจากผู้คุม การถูกใช้งานหนัก และการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแทบจะสิ้นเชิง
ใครที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ จิตใจคงบอบช้ำย่ำแย่และกราดเกรี้ยวกับชีวิต  แต่เมนเดลาหาเป็นเช่นนั้นไม่  เขาเคยพูดติดตลกเมื่อย้อนนึกถึงประสบการณ์ช่วงนั้นว่า “ผมไปเที่ยววันหยุดยาวถึง ๒๗ ปี”  เคยมีคนถามเขาว่า คุกเปลี่ยนแปลงเขาอย่างไรบ้าง  เขาตอบว่า “ผมออกมาโดยมีวุฒิภาวะมากขึ้น”

เพื่อนที่รู้จักแมนเดลาก่อนติดคุกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเปลี่ยนไปจากเดิมมาก  นิสัยเจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว อมทุกข์และหยิ่งยะโสในวัยหนุ่มของเขานั้น ได้หายไป  เมื่อออกจากคุก  เขากลับเป็นคนที่นิ่มนวล อ่อนโยน อบอุ่น  และมีรอยยิ้มอย่างคนอารมณ์ดี “บุคลิกของเขางอกงามเปลี่ยนไปจากเดิม เขาอบอุ่นกับทุกคน” เพื่อนสนิทคนหนึ่งพูดถึงเขา   แทนที่จะมีความขมขื่น เขากลับเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน  แทนที่จะอัดแน่นด้วยความเกลียดชัง  เขากลับมีเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยทุกคนแม้กระทั่งคนที่เคยทำร้ายเขา  คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากเมื่อเขาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี  เพราะทำให้นโยบายปรองดองของเขาสัมฤทธิ์ผล  แอฟริกาใต้สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง  ขณะที่การถ่ายโอนอำนาจจากคนขาวซึ่งเป็นคนส่วนน้อยมาสู่คนผิวดำเป็นไปได้อย่างสันติ
คุกไม่ได้บั่นทอนอุดมการณ์ของเขาให้อ่อนแรงลงเลย   หากยังเปิดโอกาสให้เขาได้หยุดคิดและไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง นอกจากเรื่องของบ้านเมืองแล้ว  เขายังได้เรียนรู้จิตใจของผู้คนและเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น  การได้ใกล้ชิดกับผู้คุมซึ่งล้วนเป็นคนขาว  ช่วยให้เขารับรู้ถึงความกลัวของพวกเขา เข้าใจพวกเขามากขึ้น จึงมีความเกลียดชังน้อยลง และพร้อมจะให้อภัยต่อพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของพวกเขา
แมนเดลาพบว่าผู้คุมเหล่านี้หลายคนเป็นเด็กกำพร้า เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่ยากจน  ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม อีกทั้งได้รับการอบรมสั่งสอนในระบบเหยียดผิว จึงมองเห็นคนดำว่าต่ำต้อยและชั่วร้าย  แต่ในส่วนลึกของคนเหล่านี้มีความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเห็นอกเห็นใจคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน
แมนเดลาได้เรียนรู้จากในคุกว่าคนทุกคนนั้นล้วนมีความดีอยู่ในจิตใจ  คนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากก็คือ พันเอกเพียท บาเดนโฮสต์  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บัญชาการเรือนจำที่โหดเหี้ยมที่สุด แมนเดลาได้ท้าทายอำนาจของเขาหลายครั้งและถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แต่เมื่อถึงวันที่เขาอำลาจากเกาะนี้เพื่อไปรับหน้าที่ใหม่ บาเดนโฮสต์ได้หันมาพูดกับพวกเขาว่า “ผมขอให้พวกคุณโชคดี” เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าคำพูดเช่นนี้จะออกมาจากปากของคนที่โหดร้ายอย่างบาเดนโฮสต์ได้  เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า แม้กระทั่งคนชั่วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้  จะว่าไปแล้วคนอย่างบาเดนโฮสต์ก็มีความดีอยู่ในตัว  แต่ที่เขา “ทำตัวเหมือนคนโหดร้ายก็เพราะเขาได้รับรางวัลจากการกระทำที่โหดร้าย”
ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้เขาเชื่อในความดีของมนุษย์ทุกคน และพยายามดึงเอาส่วนดีที่สุดของผู้คนออกมา เขาเคยพูดว่า “อย่าพูดด้วยเหตุผล จงพูดด้วยหัวใจ” เพราะการพูดด้วยหัวใจนี้แหละสามารถสื่อสัมผัสตรงถึงความดีในใจของเขาได้   ในทำนองเดียวกัน ด้วยความเชื่อดังกล่าว เขาจึงเห็นว่าท่าทีที่สุภาพ อ่อนโยน รวมทั้งการแสดงไมตรีจิต   สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่ดุร้ายก้าวร้าวได้  ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาพบว่าท่าทีดังกล่าวสามารถชนะใจผู้คุมที่หยาบกระด้าง ยิ่งเขาหันมาเรียนภาษาของคนเหล่านั้น  (คนขาวกับคนดำในแอฟริกาใต้พูดคนละภาษา) ศึกษาวรรณกรรมของคนขาวรวมทั้งรักบี้ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของคนขาว จนเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนขาว  เขาก็สามารถเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรได้

                                                        
อย่างไรก็ตามทักษะสำคัญที่เขาเรียนรู้ระหว่างติดคุกนั้นได้มาจากการอยู่ร่วมกับคนดำด้วยกัน โดยเฉพาะที่เกาะรอบเบินนั้นมีนักโทษจากกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน นอกจากคนดำจากสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน(African National Congress)  ซึ่งสนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างสีผิวต่าง ๆ แล้ว ยังมีคนดำที่ปฏิเสธการอยู่ร่วมกับคนขาว  และคนที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากความเห็นจะแตกต่างกันมากแล้ว วัยก็แตกต่างกันด้วย กล่าวคือสองกลุ่มหลังเป็นคนหนุ่มที่ใจร้อนอารมณ์แรง บางช่วงขัดแย้งกันมากถึงกับใช้อาวุธทำร้ายกันในคุก   แมนเดลาตระหนักดีว่าความสามัคคีกันระหว่างคนดำเป็นสิ่งสำคัญทั้งในคุกและนอกคุก เขาจึงพยายามประสานคนเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกัน  ที่นั่นเขาได้เรียนรู้ว่าการชักชวนด้วยท่าทีที่นุ่มนวล ใช้น้ำเย็นเข้าลูบนั้น ดีกว่าการใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว
               
คุกจึงเป็นสถานที่ที่แมนเดลาได้พัฒนาทักษะในการสมานไมตรีและสร้างความปรองดอง  ได้เรียนรู้วิธีการผูกสัมพันธ์กับคนทุกประเภทและดึงมาเป็นพวก ทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่เขามากเมื่อได้รับอิสรภาพ นอกจากเขาจะเป็นแกนนำในการสร้างแนวร่วมระหว่างคนดำกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถนำพา ANC ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นแล้ว  เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี ก็สามารถผลักดันนโยบายคืนดีให้เป็นผลสำเร็จ 
อย่างไรก็ตามทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาละเลยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง  ในคุกเขาเรียนรู้ที่จะเก็บความโกรธไม่ให้แสดงออกมา  เพื่อรักษาท่าทีที่เป็นมิตร เขายังได้พบว่าการกดข่มความโกรธช่วยให้เขาคิดชัดเจนขึ้น ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ แมนเดลาเคยกล่าวว่า “เมื่อเจอสถานการณ์(ที่ยั่วยุหรือเป็นปัญหา) เราต้องการการคิดที่ชัดเจน  แน่นอนว่าคุณจะคิดได้ชัดเจนขึ้นหากคุณใจเย็น มั่นคง ไม่ว้าวุ่น  ทันทีที่คุณว้าวุ่น คุณอาจทำผิดอย่างร้ายแรง”   คุกสอนให้เขารู้ว่า ควร “คิดด้วยสมอง ไม่ใช่ด้วยเลือด”  การครุ่นคิดด้วยใจสงบ ไม่ให้ความโกรธเกลียดเคียดแค้นมาครอบงำ ช่วยให้เขาเห็นแจ่มชัดว่า การเจรจากับคนขาวคือทางออกของประเทศ ไม่ใช่การจับอาวุธต่อสู้ด้วยอาวุธดังที่เขาเคยเชื่อ   การบรรลุข้อตกลงร่วมกันของคนในชาติเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนดำมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของประเทศโดยปราศจากการนองเลือด ด้วยเหตุนี้เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อสร้างความปรองดองระหว่างคนต่างผิว  ไม่ว่าการหยิบยื่นไมตรีแก่ผู้ที่เคยเป็นศัตรูหรือการให้อภัย  แม้จะต้องเก็บความแค้นเคืองปวดร้าวไว้ในใจก็ต้องทำเพื่ออนาคตของประเทศ
ที่สำคัญก็คือเขาไม่มัวปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์  แทนที่จะขมขื่นกับชะตากรรมอันเลวร้าย   เขากลับใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ “มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สูญเสียวันเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตไป แต่คุณได้เรียนรู้มากมาย  คุณมีเวลาครุ่นคิด  ยืนห่างจากตัวเอง มองตัวเองจากระยะไกล เพื่อเห็นความขัดแย้งในตัวเอง”
               
ด้วยวัย ๗๒ แมนเดลาออกจากคุกที่จองจำเขาเกือบครึ่งชีวิตโดยปราศจากความขมขื่น สีหน้ายิ้มแย้ม แถมมีอารมณ์ขัน สามารถหยอกเย้าชะตากรรมอันเลวร้ายในอดีต และมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ด้วยศรัทธาในความดีของมนุษย์ทุกคน  เมื่อเขาได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ  สิ่งแรก ๆ ที่เขาทำก็คือ เยี่ยมเยือนเพื่อแสดงการให้อภัยแก่ผู้ที่เคยทำร้ายเขา อาทิ อัยการที่เคยฟ้องเขาจนเป็นเหตุให้ติดคุก อดีตประธานาธิบดีโบทาที่เคยมองเขาเป็นศัตรูตัวฉกาจ รวมทั้งแต่งตั้งผู้บัญชาการเรือนจำที่เคยโหดร้ายกับเขาให้เป็นทูตประจำออสเตรีย
ชีวิตของแมนเดลานั้นเหมือนนิยาย  จากนักโทษอุกฉกรรจ์ที่ถูกขังอย่างไร้อนาคตจนโลกเกือบลืม กลับกลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศซึ่งคนทั้งโลกยกย่องให้เป็นไอดอล  แต่ที่อัศจรรย์ไม่แพ้กันก็คือ จากคนหนุ่มเลือดร้อน อ่อนไหว ขมขื่นและหยิ่งยะโส เมื่อออกจากคุกที่เลวร้ายดังนรก  กลับกลายเป็นคนแก่ที่เข้มแข็ง ถ่อมตน มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยเมตตา  นับเป็นแบบอย่างของผู้ที่ไม่ยอมปล่อยให้เคราะห์กรรมกระทำย่ำยีจนชีวิตตกต่ำย่ำแย่  แต่กลับเป็นนายเหนือมัน สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์จนนำพาชีวิตสู่ความเจริญงอกงาม   
แมนเดลาเคยกล่าวว่า บทกวีที่เขาให้แรงบันดาลใจแก่เขาอย่างมากก็คือ “ฉันคือผู้บงการชะตาชีวิตของฉันเอง  ฉันคือผู้นำพาดวงวิญญาณของฉัน”  สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อย ชีวิตของเขาก็ให้แรงบันดาลใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าบทกวีดังกล่าว
ที่มา...นิตยสารสารคดี : ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๓๕๐ เมษายน ๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น