วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ๑

การแสดงธรรมกถาในวันนี้  จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน ในข้อที่ว่า ธรรมกถา นี้ เป็นข้อความที่ติดต่อกันมาเรื่อย ๆ  กับธรรมกถา ๔-๕ ครั้ง  ที่ข้าพเจ้าแสดงมาแล้ว  ในสถานที่นี้  นับตั้งแต่เรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" เป็นต้นมา  เพราะฉะนั้นข้อความบางอย่างที่เคยได้กล่าวไปแล้ว ในการแสดงครั้งก่อน ๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมากล่าวอีก  และไม่เป็นวิสัยที่จะนำมากล่าว  เพราะเป็นเรื่องหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ  แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเข้าใจว่า  ข้อความบางอย่างที่กล่าวในวันนี้  เนื่องอยู่กับข้อความบางตอนในครั้งกระโน้น  ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องนึกทบทวนไปถึง  เป็นธรรมดา

     สำหรับปาฐกถาในวันนี้  เมื่อจะกล่าวในใจความ ก็คือเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม"  หมายความว่า  จะได้กล่าวถึงเครื่องกีดกั้นขัดขวางวิถีทางแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม"  จึงเป็นการเห็นได้ว่า  ข้อความที่เกี่ยวกับพุทธธรรมนั้นเอง  สมตามเจตนาเดิมที่ตั้งไว้แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว  ว่าแต่การปาฐกถาที่พุทธสมาคมนี้  ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เราเรียกว่า "พุทธธรรม" ในแง่ต่าง ๆ กัน
     ขอให้สนใจว่า  คำพูดมีหลายชั้น  มักถือเอาความไม่ตรงกัน
     ในตอนต้นแห่งปาฐกถานี้  ข้าพเจ้าอยากจะดึงความสนใจ  ของที่ผู้ฟังทั้งหลายให้สนใจกันเสียก่อนในข้อเท็จจริงอันสำคัญประการหนึ่ง  คือข้อเท็จจริงที่ว่า  คำพูดคำหนึ่ง  มีความหมายหลายชั้น  และถือเอาความไม่ตรงกันทุกคนไป  ทั้งนี้แล้วแต่ภูมิชั้นแห่งปัญญาหรือการศึกษาของเขา  ทั้งนี้ท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจในเนื้อเรื่องตามหัวข้อข้างบนได้โดยง่าย  และชัดเจน
     คำที่เรามักมีความเข้าใจไม่ค่อยตรงกัน  และมีความสำคัญในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้  ก็คือคำที่มีความหมายซับซ้อนสับสน  อย่างคำว่า "ความจริง"  เมื่อถามกันขึ้นว่า  อะไรเป็นความจริง?  อย่างที่พวกเราส่วนมากก็จะมีความคิดพุ่งตรงไปยังข้อที่ศาสดาเจ้าลัทธิหรือผู้สั่งสอนคนใดคนหนึ่ง  ที่เรานับถือได้บัญญัติอย่างนั้นอย่างนี้  ว่าเป็นความจริง  ซึ่งเป็น ความจริงของความเชื่อ  แทนที่แห่ง  ความจริงของปัญญา  ซึ่งมักทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการหลอกตัวเองอยู่บ่อย ๆ
     สำหรับความหมายเพียงเท่าที่กล่าวมานี้  รู้สึกว่ายังไม่สมแก่นามที่จะเรียกว่า  "ความจริง"  คือมันยังแตกต่างกันตามที่ศาสดานั้น ๆ ต่างคนต่างสอน  และคนฟังหรือคนเชื่อเหล่านี้  ก็ยังฟังไม่ออก  ไม่ถูกไม่ตรง  ไม่หมดจดสิ้นเชิง  ตามที่ศาสดาองค์นั้นต้องการจะให้เข้าใจ  แม้ตนจะฟังผิดเชื่อผิดไปจากที่ศาสดาของตนสอน  ตนก็ยึดถือเอาว่าเป็นความจริงอยู่นั่นเอง  ซึ่งมันไม่อาจทำให้คนที่ถือหลักเช่นนั้นเข้าถึงความจริงได้
     ความจริงของเขาเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแห่งการศึกษาของเขา  แต่เขาก็ได้ยึดถือเอาว่าเป็นความจริงแท้ทุก ๆ ระยะมาทีเดียว  ทั้งที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย  ถ้าผิดไปจากนี้  เขาก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนหลอกตัวเองและไม่มีความจริง  ฉะนั้นในวันนี้  ข้าพเจ้าอยากจะบัญญัติความหมายของคำคำนี้  เพื่อความเหมาะสมกับการที่ท่านผู้ฟังจะเข้าใจเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม"  ในวันนี้
     "สิ่งที่เรียกว่าความจริงนั้นคือ  สิ่งที่ปรากฏอยู่แก่ใจเท่าที่เรารู้หรือสัมผัสได้  พร้อมทั้งส่วนที่เป็นเหตุ  และส่วนที่เป็นผล"  สิ่งที่เราไม่อาจรู้หรือสัมผัสได้จนถึงที่สุดย่อมมีอยู่ทั่วไป  กระทั่งถึงแม้ที่เป็นพวกวัตถุ  ไม่ใช่จิตไม่ใช่วิญญาณอะไรมากมาย  ความจริงในสิ่งเหล่านี้คืออย่างไรแน่  ก็ไม่มีหนทางที่จะบอกให้แก่คนที่ยังไม่เข้าถึงความจริงทราบได้  เพราะฉะนั้นโดยทั่ว ๆ ไป หรือตามที่มันเป็นอยู่แก่คนเราจริง ๆนั้น  "ความจริง"  ก็คือสิ่งที่ปรากฏแก่ความรู้สึกของผู้นั้น  และสำหรับคนคนนั้นในขณะนั้นเท่านั้น
ความจริงในพุทธศาสนา  ถือเอาเท่าที่จำเป็นแก่การพ้นทุกข์
     สำหรับพุทธศาสนาของเรา  ก็เป็นศาสนาที่ถือกันว่าแสดงความจริง  ปัญหาจึงมีอยู่แต่เพียงว่าแสดงความจริงอะไร  แสดงไปทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างหรือเพียงแค่ไหน  ในที่นี้เราต้องถือเอาตามหลักของพุทธศาสนาเองที่มีอยู่ว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ คือ  "ความจริงอันประเสริฐ" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ  "ความจริงของพระอริยเจ้า"  ซึ่งเราควรจะพิจารณาดูทั้งสองนัยตามลำดับ  คำว่าความจริงอันประเสริฐ  ในที่นี้ หมายความว่า  "เท่าที่จำเป็นแก่การพ้นทุกข์"  ส่วนที่เลยจากความจำเป็นนั้นไป  ไม่นับรวมเข้าในที่นี้
     คนมักจะเข้าใจกันว่า  ที่ว่าพุทธเจ้าเป็น สัพพัญญู นั้นคือรู้อะไรไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง  รู้ทุกภาษาทุกเหตุการณ์  กระทั้งถ้าจะเอามาให้ทรงขับรถยนต์เดี๊ยวนี้  โดยไม่ต้องศึกษาเสียก่อน  ก็จะทรงขับได้ดังนี้เป็นต้น  ความเป็นสัพพัญญูอย่างนี้  ไม่ได้เป็นไปตามความหมายที่ถูกต้องของหลักแห่งพุทธศาสนา  ขืนถือเอาความหมายอย่างนี้ก็จะเกิดความสร้างสรรค์องค์พระพุทธเจ้าขึ้นมายึดถือไว้อย่างผิด ๆ เท่านั้นเอง
     สัพพัญญุ  ซึ่งแปลว่ารู้ทุก ๆ อย่างนั้น  หมายถึง  ความรู้เฉพาะสิ่งที่ควรรู้  สิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้อันเกี่ยวกับการพ้นทุกข์สิ้นเชิงแล้วย่อมรู้สิ่งนั้น  โดยถูกต้องครบถ้วนทุกประการ  เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า  สัพพัญญู
     การที่จะถือว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว  ทรงทราบภาษาจีน  ภาษาแขก  และ ฯลฯ  โดยไม่มีการเรียนนั้น  เป็นการเหลือวิสัยเกินไป  เป็นการสร้างสรรค์เอาด้วยความรักและความเชื่อของคนสมัยหนึ่ง  เพื่อดึงตัวเองและเพื่อนมนุษย์เข้าหาความเชื่อโดยทุกวิถีทาง  และปราศจากความสำนึกถึงการเลยขอบเขต  โดยถือเสียว่าการทำอย่างนี้  ในชั้นนี้  ยิ่งมากยิ่งดี  เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นอันกล่าวได้ว่า  แม้  ความจริงเท่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบและทรงสอนนั้น  ก็คือความจริงเท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ คือ เท่าที่เกี่ยวกับความพ้นทุกข์สิ้นเชิง  จึงได้เรียกว่า  ความจริงอันประเสริฐ
อริยสัจจ์คือความจริงที่พระอริยเจ้าเห็น
     ส่วนอีกนัยหนึ่ง  ที่เรียกว่า  "ความจริงของพระอริยเจ้า"  นั้นยิ่งเห็นความหมายได้ชัดเจน  ข้อนี้  หมายถึงความจริงที่พระอริยเจ้าท่านมองเห็น  คนธรรมดาเราท่านมองไม่เห็น  จึงไม่อาจเรียกว่า  ความจริงของคนธรรมดา  เมื่อใดเห็น  เมื่อนั้นก็เป็นพระอริยเจ้าเสียแล้ว  ฉะนั้นความจริงที่มีนามว่าอริยสัจจ์  จึงได้แก่ความจริงอย่างหนึ่งหรือลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ  และเห็นได้ในขณะที่เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น
     ข้อนี้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า  สิ่งที่เราเรียกว่าความจริงนั้นยังมีอีกมากมายนัก  และอยู่นอกเหนือความจำเป็น  แม้เท่าที่อยู่ในวงของความจำเป็นจะต้องรู้จะต้องทราบก็ยังมีมาก  ขนาดต้องใช้ปัญญาของผู้ที่เป็นสัพพัญญู  คนธรรมดาแม้จะรู้ความจริงถึงขนาดพ้นทุกแล้ว  ก็รู้ในวงจำกัดเท่าที่เกี่ยวกับความจำของตนไม่กว้างถึงเพื่อผู้อื่น  ซึ่งมีอุปนิสัยใจคออย่างอื่น  และก็เท่าที่ปรากฏแก่ใจของตนเท่านั้น
ตัวความจริงไม่ใช่สิ่งที่บัญญัติ  แต่เป็นสิ่งที่เห็นด้วยปัญญา
     โดยหลักวิชาหรือหลักลัทธิที่ตั้งขึ้นไว้  เราอาจบัญญัติความจริงว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามใจชอบ  และเรียนรู้หรือท่องจำกันไว้ได้  แต่ครั้นมาถึงความจริงที่เป็นไปในใจไหรือในการกระทำจริง ๆ นั้น  ตัวความจริงไม่ใช่สิ่งที่บัญญัติแต่มาอยู่ที่สิ่งซึ่งเขากำลังมองเห็น  และถือกันไว้ด้วยปัญญาของเขา  และแตกต่างกันเฉพาะคนไป  ความจริงที่บัญญัติไว้นั้น  ถูกเอามาปรุงกันใหม่  ตามอำนาจของความรู้สึกที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเหตุผลและเหตุการณ์ที่แวดล้อมอีกต่อหนึ่ง  คำคำเดียวกัน  หรือลัทธิข้อเดียวกัน  แต่มาอยู่ในใจของคนผู้ถือในรูปต่าง ๆ กันเป็นคน ๆ ไป  แล้วแต่ว่าระดับความรู้สึกหรือใจของผู้นั้นอยู่ในลักษณะเช่นไรหรือเพียงไหน
     ตัวอย่างเช่นคำว่า "ความสุข"  ซึ่งที่แท้ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีลักษณะของตัวเองโดยเฉพาะ  แต่ในที่สุดความหมายของคำว่าความสุขนี้  กลับแตกต่างกันเป็นราย ๆ ไป  ไม่เหมือนกันซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ถือเป็นความจริงของตนทั้งนั้น  และกำลังถือกันอยู่จริง ๆ ทั่วทุกคนไปไม่ยกเว้นใคร
     การที่จะเกณฑ์ให้เชื่อตามผู้อื่นในกรณีเช่นนี้โดยภายในใจย่อมเป็นไปไม่ได้  หากจะใช้บังคับกันด้วยความศักดิ์สิทธิ์หรือความเคารพนับถือแล้ว  ก็ย่อมจะเชื่อไปทีเท่านั้นเอง
     แม้ที่ถือกันว่าพระนิพพานเป็นสุข  ก็กล้ากล่าวได้ว่า  มีคนจำนวนมาก  ที่ถือว่าพระนิพพานเป็นสุขนั้น  ตกอยู่ในฐานะหลอกตัวเอง  คือเชื่อไปทั้งที่มองไม่เห็นว่าจะเป็นสุขได้อย่างไร  แต่เชื่อไปโดยเหตุว่าตนเป็นพุทธบริษัท  หรือเชื่อด้วยความเคารพในพุทธวจนะ  แล้วก็ลืมความรู้สึกที่ฝืนความรู้สึกนั้นเสียอย่างนี้เป็นต้น  แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเขามีความจริงของเขาอยู่นั่นเอง...
     อ่านต่อตอน๒...เร็ว ๆ นี้
     




























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น