วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับแห่งการรู้ทันตัวเอง

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนเป็นทวารที่เป็นต้นกำเหนิดของเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ การหลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นอกจะทำให้ผิดศิลแล้ว ยังทำให้ขาดสมาธิ ไม่เกิดปัญญา แต่กลับกลายเป็นอวิชา ซึ่งจะมาขับดันให้เกิดวงจรแห่งปฎิจจสมุปบาทต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

      การเกิดดับของดวงจิตมีความไวมากเกินกว่าที่ปุถุชนตนธรรมดาจะสามารถรับรู้ได้ วิปัสสนากรรมฐานจึงเน้นไปที่การเกิด-ดับของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสแทน ดวงจิตเองก็เกิด-ดับ
อยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การกำหนดสติเฝ้าดูตามทวารเหล่านี้ ในที่สุดก็จะพบว่า เวทนา กิเลส ตัณหา ที่เกิดจากผัสสะแห่งทวารเหล่านี้ก็คือจิตที่ผุดขึ้นมารับอารมณ์นั่นเอง ทันทีที่ได้ยิน เราใช้สติกำหนด ได้ยินหนอๆๆเมื่อเสียงหายไป การได้ยินก็หายไปด้วย นั่นคือรูป(เสียง) นาม(การได้ยิน)ดับไป แต่สิ่งที่ไม่ดับตามไปก็คือ เวเทนา กิเลส ตัณหา ทั้งๆที่ตัวต้นเหตุดับไปแล้ว เมื่อใดเกิดสติรู้เท่าทันว่าจิตกำลังหลงไปกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อนั้นความรู้ตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทุกทวาร และสามารถดับเวทนา กิเลส ตัณหา ไปพร้อมๆกับรูปนามของผัสสะที่ดับไปได้ทันที ผุ้ที่จิตไม่ตั้งมั่นหรือมีจิตที่หลงใหลไปตามอารมณ์ของทวารทั้งหก จะต้องชดใช้กรรมไม่มีที่สิ้นสุด
        กรรมเก่าก็คือผัสสะแห่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การสนองของกรรมก็อาศัยเวทนา กิเลส ตัณหาที่เกิด กระตุ้นให้เป็นพฤติกรรมวงจรของปฏิจจสมุปบาทสามารถย้อมกลับได้ ก็คือการย้อนกลับของผลกรรมนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นรูป ->เกิดผัสสะ ->เกิดเวทนา ->เกิดตัณหา
 ->เกิดอุปาทานตัวกู-ของกู ->ภวังคจิต ถ้าเราสมมุติให้ผัสสะเป็นขดสปริงด้านหนึ่ง อุปาทานเป็นอีกด้านหนึ่งของขดสปริง พลังแห่งกรรมก็คือพลังที่แฝงอยู่ เมื่อกดสปริงจากผัสสะให้มาแนบกับอุปาทาน พลังนี้ไม่ได้หายไปไหน เมื่อมีการเกิดใหม่ในภพชาติต่อไปในเวลาที่เหติปัจจัยเหมาะสม สปริงก็จะคลายตัวเป็นภวังคจิต ->อุปาทาน ->ตัณหา ->เวทนา ->ผัสสะ เป็นขบวนการย้อนกลับต่อไป คนเราที่เกิดมาจึงมีตัณหาไม่เท่ากัน เพราะมีพลังแห่งกรรมเก่าที่แฝงตัวอยู่ในจิตแตกต่างกัน 
บางคนมีความอยาก(ตัณหา)เข้าผับเกิดความชอบ(เวทนา)หญิงสาว กระตุ้นให้อยากจับต้อง(ผัสสะ)
ในขณะที่บางคนไม่มีใจที่อยากเที่ยวกลางคืนเลย เพราะเวทนา ตัณหาที่มาจากภพชาติที่แล้วไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ คนที่บวชเรียนในชาติที่แล้วเมื่อเกิดใหม่จึงมีโอกาสบรรลุมากกว่านักเลงหัวไม้ในชาติภพที่แล้ว กรรมสามารถสะสมได้ คนที่ชอบจับต้องหญิงด้วยเวทนา ตัณหา เมื่อเกิดใหม่ชาติหน้าจะต้องเกิดเป็นหญิงให้เขาจับต้องด้วยเวทนา ตัณหาเช่นกัน กฏแห่งกรรมนี้หนีไม่พ้น ความจริงชาว    พุทธก็เข้าใจในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว จึงเรียกคนแก่ที่หมกมุ่นชอบแตะเนื้อต้องตัวผุ้หญิงว่า "แก่ตัณหากลับ" คำว่า"กลับ" ก็คือย้อนกลับของตัณหา->เวทนา->ผัสสะ นั่นเอง
     สังขารทำให้เกิดวิญญาณ(การรับรู้) ในอายตนะทั้งหก(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เมื่อเราคิดย้อนกลับ ถ้าไม่มีวิญญาณก็ไม่มีสังขาร กระบวนการเหล่านี้สามารถย้อนกลับได้ และกฎแห่งกรรมก็คือกฎแห่งการสะท้อนกลับของเวทนา ตัณหา เราสามารถพิสูจน์ได้ถึงความเป็นจริงของกฎนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่แพ้การพิสูจน์กฎหรือสมการทางคณิตศาสตร์ กฎแห่งกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎอิทัปปัจจยตาและปฎิจจสมุปบาท
        ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นอกจากเป็นฝ่ายรับผัสสะแล้ว ก็เป็นฝ่ายให้ด้วย การมอง 
การฟัง การส่งกลิ่น กริยาท่าทาง การพูดจา การคิด สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือของการสะท้อนผลกรรม เช่นคนที่รับทุกขเวทนาทางหูมา ย่อมพูดไม่ดีให้คนอื่นได้รับทุกขเวทนาทางหูบ้าง เด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยการดูด่ามาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าในอนาคตเมื่อโตขึ้นลูกคนนี้จะดุด่าพ่อแม่ ลูกตัวเอง หรือพูดจาไม่ดีกับคนอื่นๆ เพราะเกิดขบวนการย้อนกลับทางผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน กรรมเก่าทั้งหมดก็มีอยู่แค่นี้ ไม่ว่าไปทำอะไรมา มันจะสะสมรวมกันอยู่ และสะท้อนกลับออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
        ดังนั้นจงระลึกไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่ใจเราเกิดเวทนาจากผัสสะ สิ่งเร้าที่เข้ามาทางทวาร แม้ในภายหลังสิ่งเร้าเหล่านั้นจะหมดไป แต่พลังแห่งกรรมยังแฝงอยู่ และทำให้เราต้องเกิดให่มเพื่อมาชดใช้กรรม เราก็รู้อยู่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่มีอยู่จริง เสียงเพลงที่ว่าเพราะ เราปิดเครื่องเมื่อไรเสียงก็หายไป แต่เวทนา ตัณหาที่เกิดขึ้นมันปิดยากกว่าปิดเครื่องเล่น ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว มันสามารถถึงขนาดข้ามภพข้ามชาติได้ทีเดียว
        จิตที่ผูกพันกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จะทำให้มีการเกิดใหม่เสมอ เพราะมีความรู้สึกติใจในรสชาติ เหนี่ยวนำให้มีการเกิดครั้งต่อไป ผู้ที่ตายด้วยจุติจิตเต็มไปด้วยความอยาก ก็จะหาหนทางเกิดใหม่ตามความอยากนั้น ยกตัวอย่างเช่น ตัวเราเมื่อเสียชีวิตได้เดินไปตามทางสองแพร่ง ทางหนึ่งขึ้นที่สูง ทางเดินขรุขระ เงียบสงัดมืดสนิท มีแต่ความสงบ กับอีกทาง เดินลงล่างสบายๆ ถนนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ปลายทางมีเสียงดนตรีอันไพเราะ อาหารอร่อยส่งกลิ่นเย้ายวน แก้ว จาน ช้อน ส้อม ล้วนทำด้วยทองคำ สตรีรูปงามเต้นรำอย่างมีความสุข พร้อมกวักมือเรียกอยู่ไหวๆ ลองถามใจตัวเองดูว่า ถ้าเป็นเราจะเลือกเกิดทางไหน
        การยึดติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็คือการยึดติดกับอัตตา ตัวกู-ของกูนั่นเอง ตาของกู หูของกู จมูกของกู ลิ้นของกู กายของกู เมื่อมีครบก็เหนี่ยวนำไปให้เกิดในรูปธรรมที่มีตา หูจมูก ปากกาย แต่จะได้ไปเกิดใหม่ในชั้นใดในภพภูมิทั้ง31นั้น ขึ้นอยู่กับพลังแห่งตัณหาความอยาก ถ้าอยากมากก็เกิดโมหะ คือความหลงใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัสฉาน ถ้าอยากมากจนโลภะเข้าครอบงำปฎิสนธิจิต ก็จะไปเกิดในชั้นเปรต แต่ถ้าไม่ยึดติดในประสาทสัมผัสจนละทิ้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายได้ ก็จะไปเกิดในชั้นสูงสุด คืออรูปพรหม หรือถ้ายังยึดติดกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ขณะตายมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ก็จะไปเกิดในชั้นเทวดาเสวยสุขอย่างเดียว
         แต่การเสวยสุขในชั้นเทวดาจะเกิดแต่สุขเวทนาล้วนๆ ยึดติดหลงอยู่กับสุขนั้นจนขาดสติ  ดั้งนั้นในภพภูมิของเทวดาจึงไม่สามารถปฎิบัติตนเพื่อบรรลุเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้เลย ตรงกันข้ามกับชั้นของสัตว์เดรัสฉานที่ขาดสัมปชัญญะ สัตว์เดรัสฉานจะไม่มีความรู้ตัว  ถ้าเราจับมันส่องกระจกก็จะไม่รู้ว่าภาพที่เห็นในกระจกคือตัวมัน  ดังนั้นในภพภูมของเดรัสฉานจึงขาดสัมปชัญญะที่จะปฎิบัติเพื่อความหลุดพ้นชั้นอรูปพรหมยิ่งแล้วใหญ่  ไม่มีทวารทางกายเหลืออยู่เลย   มีแต่ใจที่ดื่มด่ำกับนามธรรม  มนุษย์เป็นชั้นเดียวเท่านั้นที่มีอายตนะและสติสัมปชัญญะครบถ้วน  พร้อมที่จะต่อสู้กับผัสสะที่มาจากทวารทั้งหก  มนุษย์จึงเป็นภพภูมิเดียวใน31ภพภูมิที่สามารถบรรลุเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้
         เคล็ดลับที่จะบรรลุเข้าสู่นิพพานก็คือ  ใช้สติสัมปชัญญะเข้าไปกำหนดทวารทั้งหก  เวลาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่เกิดเวทนา เวลาได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่เกิดเวทนา ได้ลิ้มรสก็สักแต่ได้ชิม ได้ดมกลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ไม่เกิดความรู้สึกใดๆ  หรือมีสิ่งมากระทบผิวหนังก็สักแต่ว่ากระทบ  เวลาคิดก็สักแต่ว่าคิด  แล้วก็หายไป  ถุ้าทำเช่นนี้ได้ ตัวกู-ของกู(อุปาทาน) ก็จะดับ ไม่มีทุกข์ใดๆเหลืออยู่  มุ่งสู่นิพพาน
           การตัดผัสสะจากทวารทั้งหกก็เหมือนกับแพทย์ที่วางยาสลบคนใข้  คนใข้ที่สลบทวารทั้งหกก็จะถูกปิดไปด้วย  แต่การปิดทวารแบบนี้  คนใข้จะไม่มีสติสัมปชัญญะ จึงไม่ใช่การหลุดพ้น เป็นเพียงการตายชั่วขณะ
          ธรรมะที่แท้ก็อยู่ที่ทวารทั้งหกนี่เอง ไม่ได้อยู่ตามป่า  ตามเขาหรือที่ใหนไกลเลย  อยู่ตามช่องรอบๆศรีษะเรา เพียงแต่การเข้าป่าปลีกวิเวกทำให้เรามีสติมากขึ้นที่จะเลิกสนใจสิ่งรอบข้างแล้วหันมาใส่ใจกับทวารทั้งหก 
         เรื่องราวการเดินทางข้ามป่าข้ามเขาแสวงหาพระไตรปิฏกของพระถังซำจั๋ง  ก็เป็นการเปรียบเทียบในเชิงของกาย เวทนา จิต ธรรม  ตือโป๊ยก่าย  เห้งเจีย  ซัวเจ๋ง
ล้วนแล้วเป็นตัวตนสมมุติ  "ตือโป๊ย
ก่าย"เป็นตัวแทนของ "เวทนา" มีบุคลิกภาพหลงใหลในรูป รส กลิ่นเสียง  สัมผัสง่ายมาก  "เห้งเจีย"
เป็นตัวแทนของ"จิต"ซึ่งไวชอบหนีเที่ยวไกลๆ  แต่มีพลังอำนาจมาก ส่วน"ซัวเจ๋ง"แทน"กาย"ไม่ค่อยมีอิทธิฤทธิ์ คอยอยู่เป็นหลักในการปกป้องพระถังซำจั๋งยามที่โป๊ย
ก่ายและเห้งเจียหลงระเริง  และพระถังซำจั๋งก็เป็นตัวแทนของ "ธรรม"การเดินทางแสวงหาการหลุดพ้นในเรื่อง"ไซอิ๋ว"ก็คือ กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  ตามหลักสติปัฎฐาน๔นั่นเอง
           ในตัวเราก็มีทั้ง ตือโป๊ยก่าย  เห้งเจีย  ซัวเจ๋ง  และพระถังซำจั๋ง อยู่ในตัว  ต้องคุมให้อยู่  ในเรื่องไซอิ๋ว  เห้งเจียจะมีอำนาจเหนือตือโป๊ยก่าย  แต่เห้งเจียเองก็วู่วาม  และคิดไวมาก ทำให้บางครั้งใช้พลังไปในทางที่ผิด  ต้องใช้ธรรมจากพระถังซำจั๋งมาคอยควบคุมธอีกที  ส่วนซัวเจ๋งไม่ค่อยมีปัญหา  ถ้าไม่มีอะไรรุนแรงถึงขนาดกระทบกระทั่งกาย  ซัวเจ๋งจะอยู่เฉยๆคอยอารักขา  เวลามีปัญหาตือโป๊ยก่ายหลงนางปีศาจหรือ เห้งเจียขาดสติ  ซัวเจ๋งจะอยู่ข้างพระถังซำจั๋งเสมอ  เปรียบเสมือนกายานุปัสนา ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญ  เมื่อไม่สามารถกำหนด เวทนา จิต และธรรมานุปัสนาได้  แต่ซัวเจ๋งก็ไม่ค่อยว่องไวและมีอำนาจเหมือนเห้งเจีย  เห้งเจียทำให้พระถังซำจั๋งหนักใจที่สุด  แต่ก็มีประโยชน์ที่สุดเช่นกัน  เช่นเดียวกับจิต  ถ้าเรากำหนดจิตตานุปัสสนากรรมฐานคุมจิตอยู่  เมื่อนั้นพลังภายในอันมากมายจะปรากฎให้เห็น
           การเปรียบเทียบอีกมุมหนึ่ง  ในตัวของเราทุกคนมีทั้งเห้งเจีย ซึ่งนอกจากเปรียบเทียบความว่องไวเหมือนจิตแล้ว  เห้งเจียยังเป็นสัญญลักษณ์แทนโทสะ  ส่วนตือโป๊ยก่ายแทนตัวโลภะ  และซัวเจ๋งคือโมหะ  พระถังซำจั๋งคือธรรมะ  การเดินทางไปสู่นิพพานมีสิ่งมากระทบขัดขวางมากมาย
ต้องใช้ธรรมะคุมทั้งโทสะ  โลภะ  และโมหะให้อยู่
           การพบวิธีการทางสติปัฎฐาน๔ เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกและจักรวาล  เหนือกว่าการค้นพบทางกายภาพ  อย่างทฤษฏีสัมพันธภาพ  โฟโตอิเลคทริก  กลศาสตร์ ฯลฯ มากมายนัก ชนิดเทียบกันไม่ได้  การปฎิบัติตนให้พ้นในหนทางแห่งมรรค  ตามแนวสติปัฎฐาน๔  นอกจากจะทำให้เราเข้าใจความจริงแท้ของจักรวาล บรรลุเข้าสู่นิพพานแล้ว  ยังสามารถหยั่งรู้ถึงความจริงพื้นๆของโลกอย่างทฤษฏีต่างๆที่กล่าวถึงมาได้ด้วย  เช่นทฤษฏีสัมพันธภาพที่ว่ายากนักหนา  นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาถึงสี่สิบปีในการเข้าใจกับทฤษฎีนี้  แต่นักปฎิบัติธรรมสามารถเข้าใจถึงความจริงแท้แห่งเวลาได้ในเวลาเพียงชั่วเจ็ดวันของการปฎิบัติอย่างจริงจัง
          ถ้าจะเปรียบเทียบการค้นพบของพระพุทธองค์เหมือนใบไม้ในป่าทั้งหมด  และการค้นพบที่เป็นหนทางแห่งการหลุดพ้นจริงๆ  มีเพียงใบไม้เพียงกำมือเดียว  สติปัฎฐาน๔ก็คือใบไม้ใบหนึ่งที่สำคัญที่สุดในกำมือนั้น
          เป็นความโชคดีมหาศาล  ที่ได้เกิดมาพบกับหนทางสายเอกแห่งมรรค  เป็นทางสายที่ตัดตรงที่สุดในการบรรลุเข้าสู่ความจริงแท้  แต่ถึงกระนั้นการเดินไปตามทางสายนี้ก็ช่างยาวไกลและอุปสรรคมากมายเหลือเกินและถ้าจะไปให้ถึง  ควรเริ่มต้นเดินทางเสียแต่บัดนี้  เพื่อเข้าสู่หนทางที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล...
           
         ( ขอขอบคุณ  ทันตแพทย์ สม รุจีรา  กับบทความอันแท้จริงนี้ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น