วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

กามเป็นอุปสรรคตัวต้นของสมาธิ

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

กามเป็นอุปสรรคตัวต้นของสมาธิ
    คนเราเกิดมาในกามภพ ร่างกายจิตใจตกอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นอาหารหล่อเลี้ยง แม้ร่างกายนี้ก็ได้วัตถุกามมาเป็นเครื่องปรนเปรอ ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามได้ ชาวโลกิยชนนี้ พระพุทธองค์ทรงอุปมาเหมือนนกติดข่ายของนายพราน ซึ่งน้อยตัวนักที่จะหลุดพ้นไปได้ โลกิยชนเราก็เช่นกัน น้อยคนนักจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามไปได้

ประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่าเต่ากับปลาสองสหาย เต่าเป็นทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก ได้พูดเรื่องภูมิประเทศเหตุการณ์บนบกให้ปลาฟังว่าเป็นที่สวยสดงดงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารนานาชนิด แม้เต่าจะชี้แจงให้ฟังสักเท่าไร แต่ปลาเป็นสัตว์น้ำไม่เคยเห็นบนบกก็ไม่ยอมเชื่อ ด้วยเข้าใจว่าในพิภพนี้มีแต่น้ำเท่านั้น หามีบนบกอยู่ด้วยไม่

ข้อนี้ฉันใด กามเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามก็ฉันนั้น ย่อมไม่รู้เห็นสัจธรรมได้ ถึงจะมีผู้ชี้โทษให้เห็นว่า กามเป็นของมีโทษมากมีคุณน้อย ก็ไม่ยอมรับรู้ทั้งนั้น เพราะเห็นกามเป็นคุณ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ เมื่อกามให้โทษทั้งที่เผ็ดร้อนแสนสาหัส น่าจะเห็นว่ากามลงโทษ แต่กลับเห็นไปว่าสิ่งอื่นให้โทษก่อนกามคุณ มีอยู่ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ 

ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามแล้ว ย่อมลุ่มหลงมัวเมาติดอยู่ในกามคุณ ๕ นี้ว่า เมื่อกามคุณ ๕ นี้ยังมีอยู่ สามารถอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนได้ หรือกามคุณ ๕ นี้ดับหายไปก็ยังหวังว่าจะได้มาอีก 

ดังนั้น สัตว์ตายแล้วจึงต้องเกิดอีก เพราะความหวังติดใจในกามคุณ ๕ ยังมีเชื้อเหลืออยู่ เป็นอันว่าผู้ตกโคลนเอาโคลนมาล้างจะสะอาดได้ไฉน เมื่อจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสแล้ว ย่อมเข้าถึงสมาธิไม่ได้ อันจิตที่เป็นสมาธินั้น ต้องเป็นจิตสะอาดปราศจากกิเลสมีกามฉันทะ เป็นต้น

ข้อนี้พึงเห็นได้ในองค์ฌาน ๕ เป็นตัวอย่าง คือ ผู้จะเข้าถึงฌานได้ต้องละนิวรณ์ ๕ ด้วยองค์ฌาน ๕ คือ ละกามฉันทะ ความพอใจในกาม ด้วยเอกัคคตา ละพยาบาทด้วยปีติ ละถีนมิทธะด้วยวิตก ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยสุข และละวิจิกิจฉาด้วยวิจาร

เมื่อพิจารณาดูตามนี้จะเห็นได้ว่า กามเป็นอุปสรรคตัวต้นที่เข้าขัดขวางไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ ที่จริงกามได้แสดงอาการให้จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ขณะที่จิตพอใจในวัตถุอันน่าใคร่ ซึ่งเรียกว่าวัตถุกาม ก็ถูกกิเลสเป็นเหตุใคร่ซึ่งเรียกว่ากิเลสกามเข้าครอบงำ สิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจย่อมมีอยู่ครบถ้วน เมื่อประสบสิ่งอันไม่น่าพอใจ จิตก็เกิดปฏิฆะ โทสะ พยาบาท 
ขณะที่จิตมีปฏิฆะ โทสะ พยาบาทอยู่นั่นเอง ความฟุ้งซ่านและรำคาญต้องตามมา ความง่วงงุนซบเซาหาวนอนก็ประดังมา เป็นเหตุให้เกิดความลังเลตัดสินใจอะไรลงไปไม่ได้ แม้จะตัดสินลงไปแล้วก็ไม่เป็นอันตัดสิน ผลก็คือความกลุ้มใจ นำให้ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ

ท่านจึงสอนให้อบรมจิตให้เป็นสมาธิเพื่อละกิเลสเหล่านี้เสีย แล้วก็จะได้รับความสุขที่แท้จริงจริงอยู่ คนเราที่เกิดมาในกามภพ ติดอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อคิดดูแล้วน่าหนักใจในอันจะละกามให้ออกห่างไกลจนจิตไม่ติดชุ่มแช่อยู่ในกามารมณ์ และเห็นโทษเบื่อหน่ายถอนตัวออกได้เด็ดขาด เป็นอนาลโย สิ้นอาลัยห่วงใยนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย 

แต่ผู้ปฏิบัติที่ตั้งใจมุ่งมั่นดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเข้าถึงสัจธรรม ความหนักใจจะกลายเป็นความเบาใจไป และความสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ก็จะหมดสิ้นไป เพราะสัจธรรมเป็นนิยยานิกธรรม นำให้ผู้ปฏิบัติถูกต้องลุถึงผลที่ประสงค์ได้พึงทราบว่า รูปกายของคนเราเป็นวิบากขันธ์ จะสมประกอบหรือไม่สมประกอบก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนใจที่เข้าอาศัยรูปกายเป็นเรือนอยู่ เมื่อยังไม่รู้ความจริงของรูปกาย ก็จะอนุวัตไปตามและเข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส 

แต่เมื่อได้รับอบรมให้รู้ให้ฉลาดขึ้นพอตัวแล้ว ก็จะเห็นเป็นแต่สักว่าเครื่องอาศัย ไม่เข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส พึงเห็นพระอริยเจ้าเป็นตัวอย่าง คือ ท่านอาศัยรูปกายนี้เองบำเพ็ญบารมีจนได้บรรลุโลกุตรธรรม และยังต้องอาศัยรูปกายนี้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่อีกกาม อุปมาเหมือนกับน้ำท่วมทับกายและใจของสัตว์อยู่ตลอดเวลา คนผู้ลุ่มหลงมัวเมาเหมือนกับปลา ผู้มีสติสัมปชัญญะเหมือนกับเต่า ซึ่งเป็นทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ จะไม่ลงไปอยู่ในน้ำเสียเลย ก็ยังพอมีความสุขดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ตาย เหมือนฆราวาสผู้หมกมุ่นในกาม ถ้าไม่เห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิ ก็ไม่อาจพรากจิตออกจากกามและอบรมจิตให้เป็นสมาธิได้ 
แต่เมื่อเห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิและรู้ว่าจิตเพียงอาศัยรูปกายอันเป็นวิบากขันธ์ จิตมิใช่รูปกาย รูปกายไม่ใช่จิต แล้วพยายามหาโอกาสออกจากกาม เช่น รักษาอุโบสถเป็นต้น 

ปลีกตนออกจากกาม อบรมสมาธิฝึกฝนจิตให้สงบสงัดจากกามและกิเลสทั้งหลายเป็นครั้งคราว เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ ก็สามารถพรากจิตออกจากกามได้แน่นอน 

ควรถือภาษิตว่า “น้ำมากมาปลากินมด น้ำลดหมดมดได้กินปลา” แต่ขณะเราอยู่ในฐานะเป็นปลาก็อย่าคอยท่ากินแต่มดเมื่อน้ำหลากมา หรือถึงคราวเป็นมด ก็ต้องอย่าคอยท่ากินแต่ปลาเมื่อน้ำแห้งแล้ว

ฝึกหัดสมาธิด้วยกายคตาสติกาย เป็นที่รวมอุบายของกรรมฐาน หรือเป็นที่ประชุมของกรรมฐานทั้งปวง อสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น เมื่อเราน้อมเข้ามาพิจารณาในกายจะปรากฏเห็นมีครบบริบูรณ์อยู่ในกายนี้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอุบายให้จิตค่อยคลายอัสมิมานะไปในตัว และเกิดสลดระงับความฟุ้งซ่านหดตัวเข้ามารวมเป็นสมาธิ 

อนึ่ง กายนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นมูลของกิเลสทั้งปวง ถ้าเราไม่รู้เท่าตามเป็นจริง มันก็จะเป็นเชื้อก่อภพชาติและกองทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด ว่าโดยสัจธรรม กายนี้มิใช่ของมีความสุขดังที่ปุถุชนเข้าใจกัน หากแต่เป็นตัวก้อนทุกข์ก่อความลำเค็ญให้ตลอดเวลาพระพุทธองค์ได้ตรัสบอกว่ากายนี้เป็นก้อนทุกข์ เพราะเต็มไปด้วยทุกข์ ๔ กอง คือ 
ชาติ ความเกิด 
ชรา ความแก่คร่ำครา 
พยาธิความป่วยไข้ และ 
มรณะ ความแตกดับ 
แต่ปุถุชนไม่รู้กายนี้ตามความเป็นจริง หลงถือมั่นว่าเป็นตนเป็นของตน และสำคัญเอาก้อนทุกข์นี้ว่าเป็นสุข เที่ยวหาแต่สิ่งที่ตนเข้าใจเอาว่าเมื่อได้สิ่งนั้นมาพอกพูนกายนี้แล้วจะเพิ่มความสุขให้ยิ่งขึ้น ผลสุดท้ายยิ่งเพิ่มก็ยิ่งทวีความทุกข์ ครั้นทุกทับถมทวีมากเข้าๆ บางคนที่ไม่มีธรรมเป็นประทีปส่องทาง เมื่อหาทางที่ปลอดโปร่งออกไม่ได้ ต้องออกด้วยอัตวินิบาตคือฆ่าตัวตายไปก็มิใช่น้อย

ดังนั้น ผู้หวังความสุขอันแท้จริง เมื่อชาวโลกกำลังเดือดร้อนดิ้นรนหาทางออกอยู่ จึงควรยกกายอันเป็นต้นตอของกองทุกข์และกิเลสทั้งปวงขึ้นพิจารณาแยกแยะให้รู้เห็นตามเป็นจริง จนหายสงสัยในกาย ถอนอุปาทานปล่อยวางเสียโดยไม่อาลัยห่วงใย แล้วก็จะได้ประสบความสงบสุขอันแท้จริง 

ความจริงร่างกายที่เราถือว่าเป็นของเราทุกวันนี้ สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่ของใคร มีอันย่อยยับแตกดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แม้เราจะทะนุถนอมเลี้ยงดูเอาอกเอาใจเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ แต่มันก็เป็นไปตรงกันข้าม ถ้าใครรู้จักใช้ให้สมแก่ฐานะหน้าที่ของตน ก็จะได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ ถ้าไม่รู้จักใช่เล่า ก็จะต้องเกิดโทษทุกข์เดือดร้อน 

นอกนั้น ร่างกายนี้ยังเป็นภาระหนักที่ต้องบริหารรักษา เมื่อผู้ไม่มีปัญญายึดครองด้วยอัตตานุทิฏฐิแล้ว จะต้องแบกภาระหนักให้เกิดทุกข์แสนสาหัส สมดังพระพุทธเจ้าดำรัสว่า“ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา    เบญจขันธ์เป็นของหนักแท้ภารหาโร จ ปุคฺคโล   แต่บุคคลก็ยังชอบแบกของหนักไปภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก    การรับแบกเอาขอบหนักเป็นทุกข์ในโลกภารนิกฺเขปนํ สุขํ    การปล่อยวางภาระเสียเป็นความสุขนิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ    ผู้ปลงของหนักๆ เสียได้แล้วอญฺญํ ภารํ อนาทิย    ไม่รับเอาของหนักอย่างอื่นสมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห    เป็นผู้รื้อถอนตัณหากับทั้งมูลรากได้แล้วนิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต    เป็นผู้หมดหิวกระหายต้องปรินิพพาน”

เมื่อพิจารณาตามพระพุทธดำรัสนี้จะเห็นได้ว่า เบญจขันธ์ย่อเข้าเป็นรูปขันธ์ นามขันธ์หรือกายกับใจ ที่บุคคลชอบยึดถือแนบแน่นเข้ากับจิต ทั้งๆ ที่เห็นว่ามันเป็นของหนักเหลือทน แต่ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นว่ากายกับใจเป็นคนละส่วน ไม่ใช่อันเดียวกัน ถอนอุปาทานที่เข้าไปยึดส่วนกายเสีย มุ่งมั่นอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ ก็สละละวางส่วนกายที่ไม่ควรยึดถือเสียได้ เพราะว่ารูปขันธ์ นามขันธ์นี้ โดยเฉพาะรูปขันธ์ที่คนทั้งหลายเห็นได้ง่ายด้วยตาของตนนั้น เป็นของควรดูให้เห็นแจ่มชัดว่ารูปขันธ์ซึ่งอาศัยธาตุ ๔ คุมกันเข้าเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีอาการแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีการแตกสลายลงในที่สุด ใครจะยึดถือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นเขา หรือเป็นของเราของเขาไม่ได้ทั้งนั้น สภาพของมันย่อมเป็นไปตามอำนาจของมันเอง แต่จะไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา เมื่อเราเข้ายึดถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะมีแต่ความทุกข์เดือดร้อนเป็นผลฝ่ายเดียวถ้าพิจารณาเช่นนั้นยังไม่เห็นแจ่มชัด เพราะไม่เป็นอุบายทำให้จิตสลดและสงบเป็นสมาธิได้แล้ว ก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นอสุภ ด้วยหยิบยกเอาอาการ ๓๒ ในร่างกาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด หรือจะรวมยกเอาร่างกายทั้งก้อนขึ้นมาพิจารณาโดยนัยนั้นก็ได้ มิฉะนั้น จะเพ่งอวัยวะในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งพอจะเห็นเป็นอสุภได้ง่ายเป็นอารมณ์ เช่น กระดูก น้ำมูก น้ำลาย เลือด น้ำหนอง เป็นต้น จนจิตเห็นชัดแจ้งด้วยญาณ และเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายคลายกามราคะถอนอุปาทานแล้ว ก็จะเข้าถึงฌานสมาธิได้

ดังนั้น ผู้ฝึกหัดสมาธิจึงควรน้อมจิตลงเชื่อในการพิจารณากายว่าอารมณ์ของกรรมฐานทั้งปวงรวมอยู่ในกายก้อนนี้แล้ว ต้องอย่าได้ข้องใจว่า กรรมฐานนั่นจะดีโน่นจะดี แท้จริงการฝึกหัดทำกรรมฐานนั้น มีจุดประสงค์อยู่ที่ให้ใจรู้แจ้งเห็นจริงในกายก้อนนี้ จนหายสงสัยและปล่อยวางไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ซึ่งเป็นอุบายนำใจให้เข้าถึงฌานสมาธิ

อีกประการหนึ่ง ขณะกำลังเพ่งพินิจอารมณ์ใดๆ อยู่นั้น พึงปลูกศรัทธาปสาทะลงให้แรงกล้า ตั้งสติให้มั่นคงแน่วแน่ อย่าทำขาดๆ วิ่นๆ อย่าคำนึงถึงการกระทำว่าจะสมหวังหรือไม่ อย่าใช้สังขารปรุงไว้ก่อนว่า เมื่อทำไปจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องละอย่างนั้น แล้วจะเกิดเป็นอย่างนั้น จะเข้าตำราว่าชิงสุกก่อนห่าม เพราะจิตจะไม่แน่วแน่ ความรู้จะไม่ชัดแจ้ง ความเพียรจะถดถอย ศรัทธาจะเสื่อม ผลสุดท้ายก็จะเบื่อระอา เกียจคร้านและประมาท

จงตั้งความเพียรเพ่งพิจารณาเฉพาะแต่ในอารมณ์นั้นโดยติดต่อให้ชำนาญ จนเป็นเอกัคคตารมณ์ลักษณะจิตเข้าถึงสมถะลักษณะที่จิตเข้าสงบจดจ่ออยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในกายเป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ในเฉพาะจุดเดียว เรียกว่า สมถะ อันจิตของคนเรานี้ย่อมมีอารมณ์มาก เที่ยวไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่อยู่คงที่ จิตของผู้ไม่ได้อบรมสมถะจะไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่รู้รสของความสุขที่เกิดแต่ความสงบ สมถะนี้ไม่เกิดเฉพาะแก่ผู้ฝึกหัดสมถะเท่านั้น แต่เกิดแก่คนทั่วไปก็ได้ในบางกรณี พึงเห็นเช่นเมื่อเราได้ประสบอารมณ์อะไรเข้า ซึ่งพอจะกระตุ้นเตือนใจที่กำลังฟุ้งซ่านให้หดตัวเข้ามาจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียว มีได้เห็นคนตายเป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าไม่มีความกลัวแล้ว จิตในขณะนั้นจะเลิกถอนจากอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังคิดสอดส่ายอยู่นั้น เข้ามารวมอยู่ในเรื่องตายอันเดียวด้วยความงงงันแล้วจะน้อมเข้ามาหาตน ปลงธรรมสังเวชสงบอยู่ 

นี่คือสมถะที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญส่วนสมถะที่เกิดขึ้นด้วยการฝึกหัด หมายถึงการปรารภกรรมฐานบทใดบทหนึ่งเป็นอารมณ์ จนจิตได้เข้าประสบกับอารมณ์ของกรรมฐานนั้นๆ และนำให้จิตรู้สึกนึกคิดพิศวงงงงันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีอุปมาเหมือนคนเดินทาง ขณะเมื่อสะดุดก้อนหินหรือท่อนไม้ถึงกับแตกเจ็บปวดเป็นกำลัง จิตก็จะถอนจากความเพลินและสอดส่ายไปในอารมณ์อื่น กลับเข้ามารวมจดจ่ออยู่ที่ความเจ็บปวดเท่านั้น รวมความว่า ลักษณะที่จิตถอนจากอารมณ์ภายนอกเข้ามารวมเป็นเอกัคคตาอยู่ภายในจุดเดียว จะโดยบังเอิญก็ดี โดยฝึกหัดให้เกิดขึ้นก็ดี เรียกว่า สมถะแยก ฌาน และ สมาธิ ให้ต่างกันสมถะ เป็นได้ทั้งฌานและสมาธิ อารมณ์ของฌานและสมาธิเหมือนกัน 
การฝึกเบื้องต้นก็เหมือนกัน แต่การละต่างกัน การเข้าถึงภูมิของตนก็ผิดกัน แต่ขณะเดียวกันต่างสนับสนุนเป็นทุนให้กำลังแก่กันและกันไปในตัว เรื่องนี้ผู้เข้าถึงแล้วจะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง จะขอนำท่านผู้สนใจเข้าไปพิสูจน์ตามมติและหลักฐานเป็นเครื่องอ้างเพื่อท่านจะได้พิจารณาเลือกถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไปฌาน ได้แก่ การเพ่ง และเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะเป็นกสิณ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญจะต้องให้จิตจับจ้องอยู่ในเฉพาะอารมณ์อันนั้นเป็นใช้ได้

เบื้องต้นจะต้องตั้งสติควบคุมจิตให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแน่นแฟ้น เมื่อจิตถอนออกจากอารมณ์อื่นมารวมอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เสวยความสุขอันไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน จิตก็จะยินดีและน้อมเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง เรียกว่าเพ่งเอาความสุขอันเกิดจากเอกัคคตารมณ์เป็นอารมณ์ของฌานต่อไป จนเป็นเหตุให้เผลอตัวลืมสติไปยึดมั่นเอาเอกัคคตาว่าเป็นของบริสุทธิ์และดีเลิศ จิตตอนนี้จะรวมวูบเข้าภวังค์ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับเผลอสติ หรือลืมสติไปเสียเลยอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้นมา แต่ผู้ที่เคยเป็นบ่อยและชำนาญแล้ว จะมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันแต่เป็นไม่แรง และนิมิตหรือความรู้อะไรจะเกิดก็มักเกิดในระยะนี้ เมื่อนิมิตและความรู้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่อยู่ในเอกัคคตานั้นจะวิ่งตามไปอย่างง่ายดาย เพราะจิตที่อยู่ในเอกัคคตารมณ์เป็นของเบาและไวต่ออารมณ์มาก ที่เรียกว่าจิตส่งในเป็นภัยต่อผู้เจริญฌานอย่างยิ่ง บางทีอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปก็มี ฌานมีเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องวัดในที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณได้ กิเลสของผู้ได้ฌานก็คือ มานะแข็งกระด้างทิฐิถือรั้นเอาความเห็นของตัวว่าเป็นถูกทั้งหมด คนอื่นสู้ไม่ได้ เรื่องนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของฌานหรือทิฐินิสัยเดิมของแต่ละบุคคลอีกด้วย

ผู้ที่ผ่านเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้วหรือมีจิตใจสูงกว่าเท่านั้น จึงจะแก้และแสดงให้เขาเห็นจริงตามได้ ถ้าแก้ไม่ตกก็เสียคนไปเลยปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์หรือกำหนดยึดเอาอารมณ์มาไว้กับจิต หรือเอาจิตไปตั้งไว้กับอารมณ์ของกรรมฐานที่ตนเจริญอยู่นั้นจนแนบสนิทติดเป็นอันเดียวกัน วิจารค้นคว้าตริตรองอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นวิจารอยู่ในอสุภเป็นต้น

ปีติ เมื่อจิตเห็นชัดในอารมณ์นั้นแล้วก็เกิดปีติ สุข เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดสุข และเอกัคคตา เมื่อจิตมีสุขแล้วก็แช่มชื่น มีอารมณ์เป็นเอกัคคตาแน่วแน่อยู่ในสุขนั้นทุติยฌาน มีองค์ ๓ ด้วยอาศัยปฐมฌานเป็นรากฐานหนักแน่นอยู่แล้ว กิจอันจะต้องใช้วิตก วิจาร ไม่มี จึงยังเหลืออยู่แต่ ปีติ สุข เอกัคคตา (พึงเข้าใจว่า ถ้าไม่ได้ปฐมฌานเป็นรากก่อนแล้ว จะก้าวขึ้นสู่ทุติยฌานไม่ได้เด็ดขาด)ตติยฌาน มีองค์ ๒ เพราะอาศัยฌานทั้งสองเบื้องต้นขัดเกลาฟอกจิตให้ค่อยละเอียดโดยลำดับ จนปีติหมดไปไม่ต้องการใช้ จึงยังคงเหลืออยู่แต่สุขกับเอกัคคตาจตุตถฌาน มีองค์ ๒ จิตในตอนนี้ละเอียดมาก

การเพ่งในรูปกรรมฐานยึดรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งรูปนั้นเกือบจะไม่ปรากฏ ถึงจะเพ่งรูปเป็นอารมณ์จนจิตเป็นเอกัคคตาอยู่ในรูปนั้นแล้วก็ตาม แต่ด้วยอำนาจความละเอียดของรูปกรรมฐาน จิตก็ยังปล่อยวางไม่ได้ ต้องเข้าไปตั้งอุเบกขาอยู่ในรูปกรรมฐานนั้นอีกอาการหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นความยึดถืออันละเอียดในรูป จตุตถฌานจึงยังเหลือองค์ ๑ คือ เอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาซึ่งเป็นองค์พิเศษเข้าอีก ๑ จึงมีองค์ ๒ เมื่อรวมแล้วรูปฌาน ๔ นี้ มีองค์ ๖ ส่วนอรูปฌานจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะรูปฌานก็เป็นบาทให้เดินมรรคเข้าถึงโลกุตตระได้แล้วอำนาจการละของฌานฌาน

ละกิเลสที่เป็นวิสัยของกามาพจรได้ ๕ คือ
กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ ๕
พยาบาท ความปองร้ายคนอื่น
ถีนมิทธะ ความง่วงงุนซบเซาหาวนอนอันเกิดแต่จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่มีเครื่องอยู่
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านของใจที่สอดส่ายไปในอารมณ์ภายนอกจนเป็นเหตุให้รำคาญ และ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในคุณของพระรัตนตรัย เมื่อพูดให้ตรงตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าเรียกว่าละได้ ควรเรียกว่าสงบอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งฌาน

ท่านอุปมาเหมือนศิลาทับหญ้า เพราะเมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสทั้ง ๕ ก็จะเข้ามาประจำที่เช่นเคย และองค์ฌานทั้งหมดนี้ก็อยู่ในภูมิแห่งโลกิยะด้วยตัวฌานแท้คือภวังค์ภวังค์ เกิดขึ้นในขณะที่จิตเข้าถึงฌาน มีอยู่ ๓ คือภวังคบาต จิตรวมเข้าสู่ภวังค์ขณะแวบเดียวแล้วถอนออกมาเสียภวังคจลนะ จิตที่ไหวตัวเข้าไปรวมเป็นภวังค์แล้วไม่ยอมออกมารับอารมณ์ภายนอก เสวยอารมณ์อยู่ภายในใจเอง ซึ่งมีอาการคล้ายๆ กับอารมณ์ภายนอก ต่างแต่มีรสชาติที่พิเศษกว่า หรือจิตที่กำลังจะปล่อยวางรวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่ยังไม่สนิทพอจะวางได้ ก็เรียกว่าภวังคจลนะเหมือนกันภวังคุปัจเฉทะ จิตที่รวมเข้าเป็นก้อนเดียวไม่มีอาการแตกแยกแม้แต่นิดเดียว ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ในขณะที่จิตยังอาศัยกายอยู่ แต่แยกภพออกจากกายไปตั้งอิสระอยู่ตามลำพังผู้เดียว แล้วเสวยอารมณ์ตามลำพังของตนเองอยู่ต่างหากเรื่องของสมาธิอาการที่ตั้งสติคุมจิตให้เพ่งพินิจอยู่ในกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งให้รวมอยู่ในจุดเดียวกันจนจิตแน่วแน่แน่นแฟ้น โดยมีสติรู้อยู่ว่า นี่สติ นี่สมาธิ นี่อารมณ์เหลืออยู่หมดไป มีไตรลักษณญาณควบคุมอยู่ตลอดเวลา นี่คือลักษณะของสมาธิ ซึ่งผิดแผกจากฌานดังกล่าวแล้ว

สมาธิมี ๓ อย่าง คือ
๑. ขณิกสมาธิ อาการที่จิตเข้ารวมอยู่ในจุดเดียว แต่รวมเป็นครู่เป็นขณะมีลักษณะวับๆ แวบๆ แล้วก็หายไปจนจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้
๒. อุปจารสมาธิ อาการที่จิตจวนจะรวมเข้าสู่อัปปนา ซึ่งจะรวมแหล่มิรวมแหล่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านสอดส่ายออกไปภายนอก ยึดเอาอารมณ์เป็นอุปาทานเครื่องถือมั่น จะละก็ไม่ใช่ จะเอาก็ไม่เชิง มีความลังเลเป็นสมุฏฐาน
๓. อัปปนาสมาธิ อาการที่จิตถอนสละออกจากอุปาทานทั้งปวงแล้วเข้ารวมกำลังสติ สมาธิ และปัญญา ให้มีกำลังสมบูรณ์เต็มที่ เกือบจะกล่าวได้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะนี้ แม้จะเป็นโลกอยู่ในโลกตามสมมตินิยมก็ดี แต่ใจในขณะนั้นไม่มีโลกติดอยู่เลย จะเรียกว่าโลกก็มิใช่ จะเรียกว่าธรรมก็ไม่เชิง เพราะอัปปนาไม่มีสมมติในที่นั้นขณะนั้นสิ่งอันสังเกตได้ง่ายก็คือ ลมหายใจไม่มี หากจะมีปัญหาสอดเข้ามาว่า เมื่อลมหายใจไม่มี ไฉนจึงไม่ตาย เพราะคนเราอยู่ได้ด้วยลมหายใจมิใช่หรือ

พึงเฉลยว่า ลมหายใจไม่ระบายเข้าออกได้เฉพาะแต่ทางจมูกอย่างเดียว ย่อมระบายเข้าออกได้ทั่วไป แม้ชั้นแต่ขุมขนทุกขุมขนก็ระบายเข้าออกได้ พึงเห็นท่านผู้อบรมใจให้ละเอียดจนปล่อยวางอุปาทานในรูปได้แล้ว ท่านผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นตัวอย่าง ซึ่งสัญญาและเวทนาได้ดับหมด แม้ลมหายใจก็ไม่มีตั้ง ๗ วันก็อยู่ได้
เรายังทำไม่ถึงตรงนั้น ไม่ควรจะเอามติของเราไปวัดอำนาจการละกิเลสของสมาธิสมาธิเป็นมรรคละกิเลสที่เป็นของปุถุชน ทำคนให้เป็นพระอริยเจ้าได้ตามภูมิของมรรคนั้นๆ

มรรคมี ๔ คือ

ปฐมมรรค ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตน โดยถือรั้นในกายก้อนนี้ว่าเป็นสาระจริงจัง มิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นด้วยไตรลักษณญาณ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย อันเป็นเหตุให้ถือพระศาสนาไม่สนิท ถือด้วยศรัทธาคลอนแคลน
สีลัพพตปรามาส ลูบคลำการรักษาศีลและข้อวัตร คือ รักษาศีลและประพฤติวัตรด้วยอาศัยเหตุอย่างอื่น ไม่เป็นอริยกันตศีล อริยกันตวัตร

มรรคที่สอง ละกิเลสได้ ๓ เหมือนปฐมมรรค และทำ ราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม โทสะ ความที่จิตคิดประทุษร้าย และ โมหะ ความหลงงมงายปราศจากเหตุผล ให้เบาบางลง

มรรคที่สาม ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาศ กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ปฏิฆะ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ

มรรคที่สี่ ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ นั้น และละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้เด็ดขาด ซึ่งสังโยชน์เบื้องสูงนั้น คือ รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม มานะ ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่านไปในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อวิชชา ความหลงเป็นเหตุให้ไม่รู้จริงในอริยสัจ ๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น