วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“โจรศีล ๕” ช่วยหลวงพ่ออุตตมะพ้นหลักประหาร

“หลวงพ่ออุตตมะ” คือพระมอญผู้มีฉายาว่า “อุตตมรมฺโพ” แปลว่า “ผู้มีความภาคเพียรอันสูงสุด” สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคที่สำนักวัดสุการี เมืองสะเทิม ประเทศพม่า เมื่อปี ๒๔๘๒ จากนั้นก็ธุดงค์ไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าและภาคเหนือของไทย
       
       ในระหว่างที่ธุดงค์ไปทั่วนั้น หลวงพ่ออุตตมะ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์และภัยอันตรายมากมาย ทั้งโจรป่า สัตว์ดุร้าย และภัยธรรมชาติ แต่หลวงพ่อก็รอดพ้นมาได้ด้วยจิตใจอันแน่วแน่ต่อการปฏิบัติธรรม
       
       ครั้งหนึ่งหลวงพ่อไปปักกลดอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้คนไม่ปลอดภัย มีชาวบ้านที่หากินทางล่าสัตว์และหาปลามานิมนต์ให้ไปพักกับเขาในหมู่บ้าน แต่หลวงพ่อตอบปฏิเสธไปว่า

       
       “โยมกลับไปเถอะ อาตมาอธิษฐานมาธุดงค์แล้ว อันตรายยังไงอาตมาก็อธิษฐานไปแล้ว อันตรายยังไม่เกิด แต่อธิษฐานเกิดแล้ว อาตมาไม่อยากเสียอธิษฐาน จะอันตรายยังไงก็แล้วแต่บุญบารมีของอาตมาเถิด”
       
       ทุกเหตุการณ์ที่หลวงพ่อเผชิญอันตราย ได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเชื่อมั่นในธรรมะอย่างไม่หวั่นไหว
       
       อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อจำไม่ลืมเลย ก็คือเรื่องที่ถูกโจรกระหร่างจับไปขึ้นหลักประหาร แต่ก็มีโจรอีกฝ่ายหนึ่งที่หลวงพ่อเคยช่วยชีวิตไว้มาช่วย และนำท่านบุกป่าขึ้นเขาลงห้วยเข้าเขตไทย จนมาปักหลักเป็นเสาเอกของพระพุทธศาสนาด้านชายแดนภาคตะวันตก ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชอุดมมงคลพหลนราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม และเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งยังเป็นพระที่มีประชาชนชาวไทยทุกภาค ทุกระดับ ทั้งยากจนเข็ญใจจนถึงผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ เคารพนับถือกราบไหว้สักการะฐานะปูชนียบุคคล ในนาม “หลวงพ่ออุตตมะ”
       
       เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นราว ๔ โมงเย็น หลวงพ่อเดินธุดงค์ไปถึงต้นน้ำตะไลอ่อง ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านกาญจนบุรี บังเอิญไปเผชิญหน้ากับ ๒ โจรกระหร่าง ทั้งๆที่หลวงพ่อห่มเหลืองเป็นพระ ไอ้โจรยังเอาปืนจ่อบังคับให้ท่านยกมือขึ้น แล้วเข้ามาดึงบาตรและกลดของท่านโยนทิ้ง ค้นจีวรหาอาวุธ เมื่อไม่พบก็ตะคอกถามว่าเป็นสายลับให้พม่าใช่หรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ ท่านเป็นพระมอญ ไอ้โจรกลับบอกว่า อุตตมะองค์นี้ใช่ไหมที่เรียกพวกหัวหน้าพม่ามาประชุมที่เจ้าคะเล หลวงพ่อก็บอกว่าพวกนั้นเป็นหัวหน้ามอญ ไม่ใช่พม่า แต่ไอ้โจรก็ไม่ฟัง จับท่านมัดมือไพล่หลังด้วยเถาวัลย์แล้วจะพาไป หลวงพ่อบอกจะพาไปไหนก็ไม่ว่า ช่วยเอาบาตรไปด้วยเถิด เพราะชีวิตท่านอยู่ในบาตร โจรคนหนึ่งยอมหยิบบาตรสะพายบ่าไปให้ หลวงพ่อได้ยินเสียงพระบัวเข็มของท่านที่อยู่ในบาตรกระทบบาตรดังกริ๊งๆไปตลอดทาง
       
       โจรทั้งสองพาหลวงพ่อไปพบหัวหน้าชื่อ “ภารตะ” รายงานว่าจับพระตัวการสำคัญได้รูปหนึ่ง หลวงพ่อเล่าว่าภารตะไม่ได้ชำเลืองมองท่านแม้แต่น้อย สั่งให้นำไปยิงทิ้งตรงที่เคยประหารชีวิตพระมาแล้ว ๓-๔ รูป กำชับให้ยิงตอนหลัง ๓ ทุ่ม จะได้ไม่มีใครได้ยินเสียงปืน
       
       โจรพาหลวงพ่อไปที่น้ำตก ชี้ให้ดูจีวรพระที่ห้อยไว้ ๔ ผืน บอกว่าพระพวกนี้เป็นสายลับให้พม่าจึงถูกยิงทิ้ง จากนั้นโจรก็ให้ท่านปีนขึ้นไปบนห้างริมน้ำตกที่ทำด้วยไม้ไผ่ ๔ เสา มีบันได ๑๐ ขั้น บนสุดของห้างมีพื้นแคบๆพอนั่งยองๆได้เท่านั้น เพื่อยิงแล้วร่างที่ถูกยิงจะได้ร่วงลงน้ำ แล้วถูกสายน้ำพัดหายไป
       ก่อนขึ้นห้าง หลวงพ่อขอร้องโจรมอบบาตรให้ท่านเอาขึ้นไปด้วย เพราะถึงอย่างไรพวกโจรก็ไม่ได้ใช้บาตรอยู่แล้ว พวกโจรยอมให้ แล้วบังคับให้ท่านปีนขึ้นไปทั้งๆที่มือถูกมัดจับขั้นบันไดไม่ได้ พวกโจรก็ดันท่านขึ้นไปจนได้ หลวงพ่อขึ้นไปนั่งยองๆบนห้าง
       
       โจรได้ถอดขั้นบันไดออกหมด แล้วสำทับท่านว่า
       
       “ห้ามลงมานะ” ซึ่งหลวงพ่อก็รับคำ จากนั้นพวกโจรก็หายตัวไป
       
       จาก ๖ โมงเย็นที่ถูกพวกโจรจับมาไว้บนห้างจนถึง ๓ ทุ่ม หลวงพ่อไม่ได้ยินเสียงผู้คนเลย น่าจะไม่มีใครเฝ้าท่าน แต่ท่านก็ไม่หนี ระหว่างที่รอความตายนั้นหลวงพ่อก็สวดมนต์ต่างๆเท่าที่จะนึกออก ท่านว่าเป็นการสวดตาย คือสวดอำลาเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่สวดมหาสมัยสูตร เถาวัลย์ที่มัดมือท่านไว้ยังแน่นอยู่ พอสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรต่อด้วยอนันตลักขณสูตรจนจบ เถาวัลย์เริ่มคลายตัว ท่านสวดอนิจจัง สวดแผ่เมตตา สวดสิบสองตำนาน สวดนิยาม สวดวิปัสสิและคาถาพระปริตรต่างๆ เถาวัลย์ก็หลุดออก ท่านจึงเป็นอิสระ ขณะนั้นราว ๒ ทุ่ม หลวงพ่อเปิดฝาบาตรควานหาพระบัวเข็ม แล้วนำขึ้นวางบนฝาบาตร พนมมือสวดนะโมพุทธายะ บูชาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ไปเรื่อยๆ จนถึง ๓ ทุ่มก็ไม่
ได้ยินเสียงใดๆนอกจากเสียงน้ำตก ท่านคิดว่าถ้าจะไต่ลงจากห้างก็ทำได้ แต่รับคำเขาไปแล้วว่าจะอยู่บนนี้ ถ้าหนีไปก็จะเป็นการเสียสัจจะ อีกทั้งยังเป็นการขโมยตัวเอง ซึ่งถ้าเสียสัจจะแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะไม่บริสุทธิ์ ท่านจึงตัดใจไม่หนี

       ราว ๓ ทุ่มมีโจรคนหนึ่งเอาไม้ลูกบันไดมาเสียบ แล้วปีนขึ้นมาเอาไฟฉายส่องดู พอเห็นหน้าท่านก็โผเข้ามากอดแล้วกราบท่าน พร้อมทั้งบอกขณะที่น้ำตานองว่า
       
       “หลวงพ่อนั่นเอง...ผมคิดว่าเป็นโจร หลวงพ่อเป็นพ่อของผม ใครจะมาฆ่าไม่ได้ หลวงพ่อจำผมได้ไหม ผมชื่อปะขิ่น คนที่เป็นฝีดาษถูกทิ้งไว้ที่ป่าช้าเมืองสะเทิม”
       
       หลวงพ่อหวนรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งไปช่วยเขาสร้างกุฏิไม้ที่วัดแมดสะยา พลบค่ำวันหนึ่งหลวงพ่อไปจงกรมในป่าช้า พบเด็กชายคนหนึ่งอายุอายุราว ๘ ขวบ ป่วยเป็นฝีดาษ ฝีกำลังขึ้นทั้งตัว ถูกนำไปทิ้งไว้ เพราะพ่อแม่ของเด็กป่วยตายไปก่อนแล้ว ธรรมเนียมของชาวบ้านจะต้องนำคนที่เป็นฝีดาษออกไปให้พ้นหมู่บ้านอย่างน้อย ๒-๓ กิโลเมตร หรือมิฉะนั้นต้องนำไปทิ้งไว้ไนป่าช้า มิให้แพร่เชื้อไปติดผู้อื่น หลวงพ่อเข้าไปดูเห็นเด็กยังไม่ตาย จึงเอาสบงห่อตัวแอบอุ้มเอาไปที่ศาลาพักของท่าน แล้วกระซิบกับเณรว่าอย่าบอกให้ใครรู้ ท่านจัดการต้มน้ำสะเดาป่าให้เด็กทั้งดื่มทั้งอาบ เป็นเวลา ๑๐ กว่าวันเด็กก็หาย ท่านตั้งชื่อให้เด็กน้อยนั้นว่า “ปะขิ่น” แล้วเอาไปฝากเจ้าอาวาสวัดแมดสะยาให้เป็นเด็กวัด
       
       หลวงพ่อเล่าเกร็ดเรื่องนี้ไว้ว่า พม่าในสมัยก่อนไม่มีใครตั้งชื่อจริงให้เด็กเล็กๆ มักเรียกกันง่ายๆ ว่า ลูกหมูบ้าง ลูกหมาบ้าง ต่อเมื่อบวชเป็นเณรจึงให้พระตั้งชื่อให้ ซึ่งตอนนั้นอายุก็ตกราว ๑๒-๑๓ ปีแล้ว หลวงพ่อเองก็เช่นกัน ทางบ้านเรียกว่า “เจ้าลูกชาย” ก่อนที่จะได้ชื่อจริงว่า “เอหม่อง” 
       
       ปะขิ่นเป็นเด็กวัดแมดสะยาจนอายุ ๑๓ ปี เจ้าอาวาสก็จัดการบวชเณรให้ หลังจากนั้นก็บวชเป็นพระ ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่าเกิดกองโจรต่อต้านขึ้นมากมาย ปะขิ่นเป็นกะเหรี่ยงเผ่าตองซู่ถูกกวาดต้อนไปเป็นโจรกะเหรี่ยงด้วย มีเขตอิทธิพลอยู่ใกล้เขตแดนไทย บัดนี้เด็กนั้นเติบโตเป็นหนุ่ม หน้าตาเปลี่ยนไป หลวงพ่อจึงจำปะขิ่นไม่ได้ แต่ปะขิ่นจำท่านได้ดี
       
       ปะขิ่นขอให้หลวงพ่อลงจากห้าง แต่ท่านบอกว่ารับปากเขาไปแล้ว ลงไปก็จะเป็นการเสียสัจจะ ปะขิ่นจึงให้ไปตามโจรคนแรกมา สักครู่ก็มีคนมาบอกให้หลวงพ่อลง ท่านถามว่าเขาเป็นใคร โจรผู้นั้นก็ตอบว่า “ผมคือคนที่สั่งให้หลวงพ่ออยู่” หลวงพ่อจึงยอมลง
       
       ปะขิ่นพาหลวงพ่อไปที่พักของเขาและนิมนต์ให้ท่านพักด้วย หลวงพ่อบอกว่าตอนนี้ฝนไม่ตก ท่านอยู่กลางแจ้งได้ ขอให้ปะขิ่นตามกลดของท่านมาให้ด้วย กลดของหลวงพ่อเป็นกลดอย่างดีมีมุ้ง พวกโจรจึงถือโอกาสเอาไปใช้ ปะขิ่นให้คนไปตามเอามาคืน หลวงพ่อรออยู่จนเที่ยงคืนกว่าจึงได้กลดคืนมา หลวงพ่อปักกลดแล้วห้ามปะขิ่นไม่ให้เข้าในกลด เพราะท่านจะนั่งกรรมฐาน ปะขิ่นบอกว่าเมื่อหัวค่ำก็เกือบจะตายอยู่แล้ว ยังจะนั่งกรรมฐานอีก หลวงพ่อก็บอกว่า
       
       “ก็กรรมฐานนี่แหละ...ที่ช่วยเราไว้”
       
       คืนนั้น ปะขิ่นเป็นยามเฝ้าดูแลหลวงพ่อด้วยตนเองตลอดทั้งคืน หลวงพ่อทราบภายหลังว่าปะขิ่นเป็นรองหัวหน้าโจรก๊กนี้ ที่มีภารตะเป็นหัวหน้า ภารตะเป็นชาวกระหร่าง เดิมเป็นคนหาปลาภารตะหรือปลาสร้อย จึงได้ฉายาว่า ภารตะ
       
       เช้าวันรุ่งขึ้น พวกโจรที่เป็นลูกน้องของปะขิ่นแห่กันมาหาท่าน รุมล้อมเข้ามาขอของขลัง โดยเชื่อว่าท่านต้องมีอยู่แน่ๆ เมื่อคืนนี้ปืนจึงยิงไม่ออก หลวงพ่อบอกว่าไม่มีก็ไม่มีใครเชื่อ
       
       ตอนเพลวันนั้น ปะขิ่นนำอาหารมาถวาย มีทั้งกุ้งปลาที่ปล้นมา หลวงพ่อทราบก็ไม่ยอมฉัน ฉันแต่ข้าวคลุกเกลือกับพริกที่พวกโจรปลูกกันเองเท่านั้น หลวงพ่อถามพวกโจรว่ามีกันกี่คน พวกโจรบอกว่าปะขิ่นมีลูกน้องราว ๓๐๐ คน ภารตะมีเกือบ ๕๐๐ คน พอฉันเสร็จหลวงพ่อก็ไปเก็บกรวดก้อนเล็กๆมาไว้เต็มบาตร จากนั้นท่านก็เข้ากลดแล้วบอกให้พวกโจรรับศีล ท่านอธิบายว่าตามปกติพระจะให้ศีลต้องมีตาลปัตร ท่านจึงใช้กลดต่างตาลปัตรโดยมีมุ้งกั้น เมื่อโจรรับศีลเสร็จท่านก็แปลให้ฟังแล้วบอกว่าจะให้ของขลังไว้ป้องกันตัว ถ้าคนไหนปฏิบัติตามศีลได้ ของที่ให้ก็จะศักดิ์สิทธิเหมือนตัวท่าน โจรทั้งหลายรับคำ ท่านจึงแจกกรวดในบาตรให้คนละก้อน พวกโจรต่างรับไปด้วยความศรัทธา
       
       พอแจกของขลังเสร็จ ปะขิ่นก็บอกว่าหลวงพ่อควรรีบเดินทางได้แล้ว ถ้าอยู่ต่อไปจะมีอันตราย ถึงตัวเขาเองก็เหมือนกัน ถ้าภารตะรู้ก็จะถือว่าขัดคำสั่ง ต้องขุ่นเคืองแน่ๆ ปะขิ่นจึงจัดลูกน้อง ๑๐ คนเป็นผู้นำทางและคุ้มกันหลวงพ่อมุ่งเข้าสู่เขตแดนไทย โดยต้องใช้เวลาเดินทางไม่หยุดพักถึง ๓ วัน ๓ คืน
       
       หลวงพ่อต้องเดินทางข้ามเขาสูงชื่อ “กะลาเอ้ย” แปลว่า “แขกนอน” ความหมายคือปีนเขาไม่ไหว และภูเขา “ตะลกยาง” แปลว่า “เจ๊กกลับ” ความหมายก็คือปีนเขาไม่ไหวเช่นกัน ภูเขานี้ถ้าเดินขึ้นตามธรรมดา เช้าจนเพลก็ไม่ถึงสันเขา แต่พวกโจรมีความชำนาญใช้ทางลัดทำให้ย่นระยะได้มาก
       
       ในที่สุดผู้คุ้มกันก็พาหลวงพ่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านนัดเองเตา ที่คนไทยเรียกกันว่า บ้านอีต่อง แปลว่าหมู่บ้านเทวดา เป็นแหล่งเหมืองแร่วุลแฟลมขนาดใหญ่ของตำบลปิล็อค จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อได้พบชาย ๒ คน แต่งกายภูมิฐาน ทราบว่าคนหนึ่งเป็นผู้จัดการเหมือง อีกคนเป็นน้องชาย มีเชื้อสายมอญทางพระประแดง จึงไต่ถามความเป็นมาด้วยภาษามอญ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น
       
       ต่อมาในปี พ.ศ ๒๔๙๙ หลังจากที่หลวงพ่อได้สร้างวัดวังก์วิเวการามขึ้นที่อำเภอสังขละบุรีแล้ว ปะขิ่นและลูกน้องก็เดินทางมาเยี่ยมหลวงพ่อถึงวัด ปะขิ่นเล่าว่าเขากับภารตะขัดใจกันเรื่องที่เขาพาหลวงพ่อหนี ปะขิ่นจึงได้วางแผนลวงภารตะไปเลี้ยงสุราอาหาร แล้วให้ลูกน้องลอบยิงตาย ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ภารตะหลงกลก็เพราะปะขิ่นเคยบวชเรียนมาแล้ว จึงมีความฉลาดกว่าภารตะซึ่งเป็นเพียงคนหาปลาไม่มีการศึกษา
       
       ปะขิ่นบอกว่าหลังจากเขารับศีลจากหลวงพ่อแล้ว ก็เลิกเป็นโจร นำลูกน้องเข้ามอบตัวกับรัฐบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คุ้มกันคนเดินทางและรถบรรทุกสินค้าที่ไปมาระหว่างเมืองทวายและเมืองเยซึ่งมีโจรชุกชุม พวกรถจ่ายค่าคุ้มกันให้คันละ ๕๐ บาท ส่วนชาวบ้านก็พอใจที่ปะขิ่นมาช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากโจร การเดินทางค้าขายไปมาหาสู่ระหว่างเมืองทั้งสองจึงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนมีวันละเป็นร้อยๆคัน ทำให้ปะขิ่นและลูกน้องมีรายได้งามกว่าเป็นโจร แถมยังได้รับฉายาจากชาวบ้านด้วยความชื่นชมว่า เป็น “โจรศีลห้า”
       
       ในวันที่มาเยี่ยมที่วัดวังก์วิเวการาม ปะขิ่นได้นำเงินมาถวายหลวงพ่อด้วย ๕,๐๐๐ บาท และบอกท่านว่า
       
       “ผมชนะใจชาวบ้านได้ก็เพราะหลวงพ่อ มิฉะนั้นผมก็ยังคงเป็นเปรตอยู่เหมือนเดิม” 

โดย โรมบุนนาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น