วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ระงับความหลงตน


ระงับความหลงตน 

อันความหลงทั้งหลายนั้น ความหลงในตนย่อมเป็นความหลงอันสำคัญที่สุด เป็นตัวอวิชชาเป็นโมหะ เป็นความหลงผิดรวมอยู่ในความหลงตนนี้ อันความหลงตนนั้นพิจารณาให้ดีว่า คืออย่างไร อันความหลงตนนั้นก็ตั้งแต่ความยึดถือทั้งหลาย

อันเป็นความยึดถือที่ผิดด้วยอำนาจของความโลภโกรธหลงทั้งหลายทั่วๆ ไป อันเป็นเหตุให้เกิดอคติคือความลำเอียงไป ด้วยอำนาจของความรักความพอใจบ้าง ด้วยอำนาจของความชังความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง ด้วยอำนาจของความหลงบ้าง ด้วยอำนาจของความกลัวบ้าง ความเดือดร้อนทั้งหลายย่อมเกิดจากความหลงที่ถือเอาผิดดังนี้ 

เพราะฉะนั้น เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาว่า ความยึดถือในสิ่งที่ว่าเป็นที่รักก็ดี ในสิ่งที่ว่าเป็นที่ชังไม่ชอบก็ดี ในสิ่งที่หลงใหลติดอยู่ก็ดี ในสิ่งที่กลัวก็ดีว่าความจริงเป็นอย่างไร

พิจารณาดูเป็นขั้น ๆ ในขั้นต่ำที่สุด ก็คือพิจารณาถึงกรรม คือการงานที่กระทำของบุคคลที่ชอบหรือที่ชังเป็นต้น เหล่านั้นว่า ความชอบความชังเป็นต้น ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความที่ไปยึดถือในกรรมที่เขากระทำ เหมือนอย่างที่เขาทำแก่ตน เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เกิดความชัง เพราะไปรับเอากรรมมาเป็นของตนหรือว่ามาเกี่ยวเนื่องกับตน

 แต่ถ้าหากพิจารณาตามหลักกรรมของพระพุทธเจ้าว่า กรรมที่บุคคลทำย่อมเป็นของผู้ทำนั้นเอง คือกระทำความชั่ว ความชั่วก็เป็นของผู้ทำ กระทำความดี ความดีก็เป็นของผู้ทำ

พิจารณาให้เห็นจริงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไม่รับเอากรรมของเขามาเป็นของตนหรือมาเกี่ยวเนื่องกับตน ก็ย่อมจะวางความชอบหรือความชัง เพราะเหตุที่เขากระทำดีหรือไม่ดีนั้นๆ ได้ นอกจากความชอบความชังที่เนื่องมาจากความหลงยึดถือทั้งหลาย

เป็นต้นว่าความหลงยึดถือในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ในสิ่งที่ตนเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนว่าเป็นอัตตาตัวตน ในสิ่งที่เป็นอสุภะคือไม่งดงามว่าเป็นสุภะคือความสวยงาม ความหลงยึดถือเหล่านี้ทำจิตใจให้เป็นจิตวิปลาส ทำทิฏฐิความเห็นให้เป็นทิฏฐิวิปลาส ทำสัญญาความกำหนดให้เป็นสัญญาวิปลาส เพราะฉะนั้น ก็ให้พิจารณาดูตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่ามีอะไรบ้างที่ยึดถืออยู่นั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นของที่งดงามจริงๆ ร่างกายของตนก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี สิ่งที่เนื่องกับร่างกายจะเป็นทรัพย์สมบัติ จะเป็นสิ่งอันใดอันหนึ่งก็ตามที ล้วนเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เป็นของตนเองอย่างแท้จริงและไม่เป็นสิ่งที่สวยงาม ความสวยงามนั้นก็มีอยู่แค่พื้นผิวภายนอก เช่นที่ตามองเห็นเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ล้วนเป็นสิ่งประกอบปรุงแต่งกันขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันต่างๆ ทั้งนั้น พิจารณาดั่งนี้แล้ว เมื่อความจริงปรากฏขึ้น ก็จะทำให้ความดิ้นรนทะยานอยากที่เรียกว่าตัณหานั้นสงบ ทำให้ความยึดถือสงบ

 : ความสงบ : พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น