วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม๔

ปัญญาเดิมทางธรรมของตนยังบังความจริงได้
     ในทางธรรม  หรือทางจิตใจก็อย่างเดียวกัน  ถ้าความรู้หรือปัญญาเดิม ๆ มีอยู่อย่างไร  นั่นก็คือแสงสว่างของคน ๆ นั้น  ที่จะใช้ส่องลงไปยังโลกหรือชีวิตหรือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเขาก็ยึดหลักความจริงของเขาไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง
 โดยอนุโลมกันได้กับแสงสว่างของเขา  ส่วนความจริงที่จริงไปกว่านั้น  หรือนอกเหนือไปจากนั้นซึ่งเขายังไม่เห็นนั้น  ก็คือส่วนที่ปัญญาเพียงขนาดนั้นของเขาบังไว้
     ที่เรียกว่า "บัง" ในที่นี้ ก็เพราะว่าเขารู้สึกว่า  เขาได้มองดูอย่างทั่วถึงหมดความสามารถของเขาแล้ว  ไม่มีอะไรเหลือซ่อนเร้นอยู่  เขารู้สึกอย่างนี้จริง ๆ เขาจึงยึดถือเอาสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความจริงอันเด็ดขาด
     ความสำคัญผิดด้วยอำนาจความยึดถือในตัวเอง  เช่นนี้เราเรียกว่าเป็นภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของเขา  และเป็นไปอย่างผิดกับขั้นที่แล้ว ๆ มา  คือเป็นไปอย่างไม่น่าจะ เป็นไปได้  เพราะเป็นการ "บัง" ของแสงสว่างเสียเอง  ถึงแม้ในวงของพวกพุทธบริษัทที่เป็นนักศึกษาและเรืองปัญญา  ก็ยังตกอยู่ในวิสัยที่อาจจะถูกครอบงำด้วยเครื่องบังทำนองนี้ของตนเอง
     นักศึกษาคนหนึ่ง ๆ ย่อมมีการสดับตรับฟัง  การศึกษาความรู้และปัญญาขนาดหนึ่ง ๆ เป็นของตนเอง  เมื่อต้องมาตีความของพุทธวจนะประโยคหนึ่งประโยคเดียวกัน  ก็มักจะตีความได้แตกต่างกันตามความเหลื่อมล้ำแห่งแสงสว่างหรือปัญญาของตน.  หรือเมื่อจะต้องขบคิดข้อความที่ยาก ๆ เช่น  เรื่องอนัตตา  เป็นต้น  ย่อมขบคิดไปได้แตกต่างกัน  ไม่มากก็น้อย
ความจริงที่ทลายภูเขาไม่ได้  ตัวเองก็เป็นหลักตออยู่ในวัฏฏะ
     ในขณะที่ยังไม่ถึงที่สุด  ตนก็ย่อมจะยึดถือเอาส่วนที่ตนคิดได้แจ่มแจ้งด้วยตนเองว่าเป็นความอันเด็ดขาดของตน  ด้วยอำนาจความยึดมั่นในความคิดและความเห็นแจ้งของตัวเอง  ความยึดมั่นอันนี้คือภูเขาที่ขวางอยู่ในวิถีทางแห่งการเข้าถึงพุทธรรมของนักศึกษาคนนั้น  ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องพยายามพังทลายต่อไปอย่างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น  ตลอดเวลาที่เขายังไม่รู้สึกหรือพังทลายมันไม่ได้  เขาก็เป็น "หลักตอในวัฏฏะ" ปักตึงแน่นอยู่ตราบนั้น
     ทั้งหมดนี้  เราจะเห็นได้ว่า  ภายในนามแห่งพระธรรมก็อาจมีภูเขางอกออกมาจากความยึดถือในตัวพระธรรมเอง  เช่นยึดถือเป็นดวง  เป็นแสง  เป็นบ้าน  เป็นเมือง  หรือยึดถือทางวัตถุอย่างความคิดเด็ก ๆ ถือเอามัดพระคัมภีร์เป็นพระธรรม  เป็นต้น  หรืองอกออกมาจากความยึดถือในวิธีปฏิบัติ  อันจะให้เข้าถึงตัวพระธรรมหรือพุทธรรม  อันได้แก่ความยึดถือในศีล  สมาธิ  ปัญญา  แต่ละอย่าง ๆ จนเกิดเป็นการลงหลักปักแน่นอยู่  ณ  ที่นั้น  แทนที่จะถือว่าธรรมปฏิบัติเหล่านั้น  เป็นเพียงเสมือนเรือแพหรือยานพาหนะ  ที่จะได้อาศัยข้ามไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง  ก็กลับมาถูกยึดให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือตัวบุคคลอย่างนั้นอย่างนี้ไปเสีย  ทั้งที่ตนได้ใช้ความพยายามและเสียสละอย่างเต็มที่  ก็ยังทำให้เกิดความเนิ่นช้า  เนื่องด้วยเครื่องกีดขวางอันแน่นหนามหึมาเหล่านี้นี่เอง


พระสงฆ์ของบุคคลผู้นั้นก็เป็นภูเขาได้
     ทีนี้ก็มาถึง  พระสงฆ์  ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูให้ถี่ถ้วน  ก็พอจะมองเห็นได้เหมือนกันว่า  ถ้าเกิดมีความยึดมั่นสำคัญผิดแล้ว "พระสงฆ์ของบุคคลผู้นั้น"  ก็จะเกิดเป็นภูเขาขวางทางของเขาได้  อย่างไม่น้อยกว่าพระพุทธ  พระธรรม  เหมือนกัน
     จิตของบุคคลบางคน  ที่นับถือพระสงฆ์  ไปยึดถือที่ผ้าเหลืองก็มี  ที่แบบวิธีของการบวชก็มี  ที่กริยาท่าทางอันเคร่งครัดตลอดจนกำเนิดชาติตระกูลของผู้ที่บวชนั้นก็มี
     ในมี่บางแห่งนับถือพระสงฆ์อย่างผู้วิเศษ  สำหรับผู้ขับไล่เสนียดจัญไร  หรืเป็นอาจารย์ผู้นำในเรื่องของขลัง  อีกทางหนึ่งนับถือในฐานะเป็นสื่อ  หรือตัวแทนของสวรรค์หรือโลกหน้า  หรือถึงกับถือว่า  ถ้าไม่ได้บวชสักนิดหนึ่ง  ก็ไม่ใช่ญาติของพระศาสนา  ดั่งนี้เป็นต้น  ซึ่งล้วนแต่ทำให้หยุดชงักอยู่ที่ระดับนั้น  ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งรู้จักพระสงฆ์ตามที่เป็นจริง  กล่าวคือเห็นแจ้งพุทธรรม  อันเป็นธรรมะที่ทำคนให้เป็นพระสงฆ์  หรือเป็นหัวใจของพระสงฆ์
     ความที่ตนยึดมั่นว่าตัวรู้จักพระสงฆ์  แล้วยึดถึอพระสงฆ์ในรูปนั้นในลักษณะอย่างนั้น  ย่อมเป็นเครื่องปิดกั้นทางดำเนินไปสู่ภูมิธรรมชั้นสูงสุดของตนได้  ขนาดภูเขาขวางหน้าทีเดียว  และตามที่มันเป็นอยู่จริง ๆ ในวงพวกพุทธบริษัทเรา  ใครก็ต้องยอมรับว่า  ลักษณะดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ล้วนแต่มีอยู่จริง ๆ  อย่างครบถ้วนในวงพุทธบริษัทแม้เพียงในประเทศไทยเรา  ไม่ต้องกล่าวถึงพุทธบริษัทในต่างประเทศ  และมีได้ตั้งแต่ชั้นที่มีการศึกษาน้อยขึ้นไปจนถึงชั้นที่มีการศึกษามาก  หรือเลยขึ้นไปจนถึงชั้นพระอริยเจ้าชั้นต้น ๆ  ที่ยังมีอุปาทานบางอย่าง  ที่ยังตัดไม่ๆด้ในขณะนั้น
     ข้อนี้เมื่อสรุปความแล้วก็คือว่า  อัตตวานุปาทานหรือความยึดมั่นด้วยวาทะว่า  ตัวตนนั้นแหละเป็นมูลฐานของสิ่งที่ปิดกั้นปานประหนึ่งภูเขาเหล่านั้น


ความยึดมั่นว่ามีตัวตนเป็นเครื่องบังอย่างยิ่ง
     ความยึดมั่นว่ามีตัวตน  ว่าตัวตนเป็นนั่นเป็นนี่  เป็นเครื่องบังอันหนาแน่นยิ่งกว่าเครื่องบังทั้งหลาย  ถ้าจะเปรียบกับวัตถุก็อย่างกับภูเขาหิมาลัยเลยทีเดียว  ซึ่งเป็นกำแพงใหญ่สามารถบังคนในประเทศอินเดีย  ให้ไม่รู้ว่าทางประเทศไซบีเรียก็มีคนอยู่  หรือถึงกับเข้าใจว่าแผ่นดินผืนนี้ของตนไปสิ้นสุดลงเพียงที่ภูเขาอันสูงนั้น  และสูงเลยขึ้นไปในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
     ความยึดถึอว่ามีตัว เป็นตัวตนเป็นตน  แล้วเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น  ย่อมแตกแขนงไปได้เป็นหลายสาย  ล้วนแต่มีสิ่งแวดล้อมเข้าประคับประคองเป็นเหตุผลในทำนองที่จะให้มีตัวมีตนเสียร่ำไป. ความว่างจากตัวตน จึงเป็นสิ่งที่ถูกปิดบังหรือกลบฝังเสียอย่างมิดชิด. เมื่อเขาถือเสียว่าความว่างจากตัวตนนั้นไม่มี  ก็ย่อมจะถือต่อไปว่า  บุคคลที่จะเข้าถึงความว่างจากตัวตนย่อมมีขึ้นไม่ได้.
     คำว่าพระพุทธเจ้า  หรือพระอรหันต์  ซึ่งความจริงเล็งถึงบุคคลผู้เข้าถึงความว่างจากตัวตนแล้ว  ก็ย่อมถูกเพ่งเล็งไปในแง่อื่น ประการอื่น. แม้ว่าเขาจะรักหรือนับถือในพระพุทธเจ้าสักเพียงใด  ก็ไม่ใช่เป็นเพราะเห็นว่าท่านได้เข้าถึงความว่างจากตัวตน. เพราะเหตุนี้เอง  พระพุทธเจ้าก็ตาม  พระสงฆ์ก็ตาม  ตามทัศนะของบุคคลประเภทนี้  จึงมีอยู่โโยประการอื่น  ซึ่งต่างไปจากทัศนะของบุคคลผู้เข้าถึงความว่างจากตัวตน. และพระธรรมขั้นสูงสุดที่ทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์นั้นเล่า  ก็หาใช่ภาวะแห่งความว่างจากตัวตนไม่. ทั้งนี้  ก็เพราะมีความยึดถือในตัวตนจนแน่นแฟ้นเป็นต้นเหตุ
                        พิจารณาถึงตัวผู้ถูกปิดกั้น.
     เมื่อพิจารณากันถึงความยึดถือโดยประการต่าง ๆ  ในฐานะเป็นเครื่องกันขนาดภูเขามาพอเป็นที่เขาใจกันได้แล้ว  ก็จะได้พิจารณากันถึงคนเรา หรือ ตัวผู้ถูกปิดกั้น ต่อไป.
     พวกเราในปัจจุบันนี้  แม้ที่นั่งกันอยู่ที่นี่  เราก็นับถือพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  กันทั้งนั้น  เรามีตัวเราเป็นผู้นับถือ  และที่นับถือก็เพื่อประโยชน์ของตัวเรานั่นเอง. เราต้องการจะให้ตัวเรานี้อาศัยพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เพื่อการลุถึงนิพพาน. เมื่อเป็นดังนี้แล้วเรื่องมันจะเป็นอย่างไรกัน  ในเมื่อพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  และตัวเรา  ตามทัศนะของเรา  ล้วนแต่เป็นกำแพงบังพระนิพพานเสียเองดังนี้ ?
     ถ้าหากจะถือว่าถ้อยคำที่กล่าวขึ้นเช่นนี้เป็นการกล่าวอย่างกันเอง  อย่างมิตรสหาย  ในฐานะที่เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าร่วมกันแล้ว  ก็ควรจะเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน  และยึดถือว่าเป็นถ้อยคำปรับทุกข์กัน  แทนที่จะเห็นไปว่าเป็นถ้อยคำด่าทอเสียดสี.


ควรหาวิธีขจัดเครื่องกั้นเสียโดยเร็ว
     ข้อที่เราจะต้องปรับทุกข์ต่อกันนั้นมีอยู่ว่า  เราประกาศตัวเองในฐานะเป็นผู้แผ้วถางทางไปนิพพาน  แล้วมาตกอยู่ในระหว่างเครื่องกีดกั้นห่อหุ้มแน่นหนาชนิดที่น่าเวทนาสงสาร  ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าเช่นนี้  เราควรจะพร้อมใจกันทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนเด็ดขาด  เมื่อเห็ฯว่าเวลามีเหลืออยู่น้อย  โดยที่ความตายเข้าใกล้มาแล้ว  ก็ควรจะหาวิธีด่วน ๆ  ที่จะช่วยกันขจัดปัดเป่าอันตรายอันร้ายกาจนี้  ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วให้ทันแก่เวลา
     เพราะว่าถ้าเรายังคงสมาทานแต่เพียงวาจาว่า  พุทธํ  สรณํ  คจฺฉามิ. ธมฺมํ  สรณํ  คจฺฉามิ. สงฺฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ. ที่ไม่มีความหมายอันลึกซึ้งใดเลยอยู่เช่นนี้แล้ว  มันก็มีแต่จะเป็นการเสริมกำแพงเครื่องกั้นให้หนามากขึ้นทุกที  มากกว่าที่จะค่อยบางเข้า  ยิ่งทำไปจนตลอดชีวิต ก็ยิ่งหนาขึ้นตามอายุที่ค่อยมากขึ้นเท่าไร  ยิ่งทำไปหลายชีวิตหลายชาติ  ก็ยังยิ่งหนามากขึ้นอยู่นั่นเอง  กว่าจะบางได้เมื่อไรนั้น  ในบัดนี้ยังมองไม่เห็นวี่แวว.
   ด้วยเหตุฉะนี้เอง  ถ้าหากจะมีการกระตุกกระชากกลับที่รุนแรงไปสักหน่อย  ก็ควรจะถือว่าเป็นความจำเป็นของความต้องการในคำสอนหรือลัทธิ  ที่เป็นการรีบด่วนให้ทันแก่เวลา  ซึ่งเป็นความฉลาดของพุทธบริษัทเอง.
     ถ้าหากว่าจะรอเพื่อศึกษาปริยัติให้จบพระไตรปิฎก  หรือจะสมาทานศีล  บำเพ็ญสมาธิ  เจริญปัญญา  ให้ครบทุกชนิดที่มีสอนกันไว้  อย่างนี้ก็เป็นการเหลือวิสัยที่ทุกคนจะทำได้ชาติหนึ่งหรือถึงสิบชาติ  ฉะนั้น  ควรจะเพ่งเล็งไปยังปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่จำเป็น  เพื่อได้ออกไปให้พ้นโดยเร็วจะเป็นการฉลาดกว่า  โดยอาศัยหลักที่ว่า  ถ้าออกไปจากทุกได้แล้วมันก็ถึงที่ที่เราประสงค์  ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของศีล  สมาธิ  ปัญญา  หรือความมุ่งหมายของการนับถือพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ของพวกเรา  หรือจะเรียกว่า  เราเป็นพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เสียเองก็เรียกได้.
     ความสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่การออกไปได้  หรือลุถึงความพ้นทุกข์เด็ดขาด  ไม่ได้อยู่ที่การเรียนจบพระไตรปิฎก  หรือทำอะไรได้มาก ๆ  แปลก ๆ  อย่างวิตถารพิสดาร  จุดที่มุ่งหมายของเรามีเพียงความพ้นทุกข์สิ้นเชิง  จะมีมาได้โดยอาการอย่างไรก็ตาม  เรียกว่ามีผลเท่ากัน  ส่วนที่มากออกไปกว่าการพ้นทุกข์หรือนิพพานนั้นเราไม่เอา  คือเกินความจำเป็น  ทำให้เนิ่นช้า  เราเอาเพียงเท่าที่จำเป็น  และตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์สำหรับพวกเรา.
     สำหรับ  หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรม  หรือความพ้นทุกข์เด็ดขาด  มีอยู่อย่างไรนั้น  ขอให้ย้อนรำลึกไปถึงปาฐกถา ๔-๕  ครั้ง  ที่ข้าพเจ้าเคยแสดงแล้วที่พุทธสมาคมนี้แต่หนหลัง  ในวันนี้เราจะพิจารณากันเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องกีดกั้นปิดบัง  เป็นส่วนใหญ่  เราจะจัดการกับเครื่องกีดขวางอันเร้นลับ  กล่าวคือตัวเองบังตัวเองนี้อย่างไรนั้น  เราจะต้องถือเอาบุคคลตัวอย่างคือพุทธเจ้าให้ถูกตรงตามความหมาย...
                 (ต่อตอนหน้านะครับ























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น