วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม๓

เมื่อได้ ปฏิเสธพระพุทธเจ้าโดยพระพุทธรูป. โดยวัตถุหรือร่างกายของพระองค์เองเสียแล้ว  ก็ยังเหลืออยู่แต่ทางจิตใจ  หรือทางนามธรรมโดยวงกว้าง  ซึ่งเป็นการควานหาได้โดยยากยิ่งขึ้นไปอีก  เพราะฉะนั้นความผิดพลาดก็มีช่องทางมากขึ้นตามส่วน  และยิ่งเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดมีการคว้าองค์พระพุทธเจ้าเอามาในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างวิตถารพิสดาร
 เหลือที่จะคาดหมาย  จึงเกิดเป็นการ  ยึดถือเอาตามความรู้  ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเอง
      เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นดวงลอยโชติช่วงก็มี  เป็นสายก็มี  เป็นสีอย่างนั้น  เป็นสีอย่างนี้  สามารถจะอันเชิญให้ลอยมาที่นั่นที่นี่ได้  อ้อนวอนให้ทำกิจบางอย่าง หรือพาไปที่นั่นที่นี่ก็ได้  ถึงกับจัดตั้งอาหารคาวหวานไว้ส่วนหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้า  ที่เขาเชิญมามีมากมายหลายแบบ  จนเหลือที่จะกล่าวให้หมดสิ้นได้  รวมความว่าเขายึดเอาสิ่งนั้นเป็นพระพุทธเจ้าของเขา. ที่สูงไปกว่านั้นก็ยึดถือว่า  พระพุทธเจ้าคือตัวอัตตาที่บริสุทธิ์ไม่เกิดไม่ตาย  มีอยู่ในที่ทุกแห่ง  พรัอมที่จะปรากฏทุกเมื่อ  ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าวิถีแห่งพุทธธรรมของเขามาสิ้นสุดลงเพียงนี้
ความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนนั่นแหละเป็นภูเขาขวางอยู่
     ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก  เราจะสังเกตเห็นได้ว่า  แม้ที่สุดแต่ความรักในองค์พระพุทธเจ้า  ของบุคคลบางคนที่เป็นอริยบุคคลขั้นต่ำยังไม่ถึงพระอรหันต์ (เช่นพระอานนท์  ในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่)  ทั้ง ๆ ที่รู้จักลู่ทางแห่งพุทธธรรมอย่างถูกต้อง  วิถีแห่งพุทธธรรมของท่านก็ยังไม่วายถูกสกัดไว้ด้วยภูเขา  กล่าวคือองค์พระพุทธเจ้าที่ท่านยึดถือไว้ด้วยความรักของท่านเอง  ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงพระพุทธเจ้า  ชนิดที่เป็นดวงเป็นแสงอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักจนหลงใหลเหล่านั้นเลย  และในขั้นสุดท้ายอาจกล่าวได้ว่า  ถ้ายังยึดถือว่ามีตัวตนที่เป็นนั่นเป็นนี่เช่นเป็นพระพุทธเจ้าเป็นต้นอยู่เพียงไร  ก็ยังหมายความว่าวิถีแห่งพุทธธรรมของเขาไปได้เพียงแค่นั้นเท่านั้น  โดยเผชิญกันอยู่กับภูเขาแห่งความยึดถือลูกนั้น. เมื่อใดพระพุทธเจ้าของเขามาเกิดเป็นของว่างจากความมีตัวตน  เช่นเดียวกับสิ่งทั้งปวงแล้ว  ภูเขามหึมานั้นก็พังทลายไปเองโดยรอบตัว. 
     โดยข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เราพอจะเห็นได้ว่า  นับตั้งแต่ปุถุชนสามัญที่สุดขึ้นไปเป็นลำดับ  จนกระทั่งถึงพระอริยบุคคลชั้นที่รองลงมาจากพระอรหันต์นั้น  วิถีแห่งพุทธธรรมของแต่ละคนยังมีภูเขาขวางอยู่  ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนและไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น  ยิ่งไปกว่าความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน  ซึ่งสำหรับพุทธบริษัทก็ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า "พระพุทธเจ้าในทัศนะของเขา" เขายังมีพระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขาอยู่เพียงใดก็แปลว่าเขายังมีความยึดถืออยู่เพียงนั้น.
พระธรรมที่เขารู้จักก็เป็นภูเขา
     ทีนี้ถ้าเราจะมองดูกันอีกแนวหนึ่งหรืออีกทางหนึ่ง  ซึ่งนอกออกไปจากพระพุทธเจ้า  เราก็อาจจะกล่าวได้อย่างไม่ผิดอีกเหมือนกันว่า  แม้ "พระธรรม"  ของเขานั่นเอง  กลับเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของเขา  เพราะอาศัยความยึดถือทำนองเดียวกัน
     เราต้องไม่ลืมหลักอันเกี่ยวกับความจริง  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า  สิ่งที่เรียกว่า ความจริงของเขา  ก็คือสิ่งเท่าที่เขารู้  นั้นเสีย.
     แล้วเราจะพบว่า  สิ่งที่เราเรียกว่า ธรรมะ  หรือพระธรรมนั้น  ถูกคนเรารู้จักและยึดถือไว้ในลักษณะรูปร่างที่ผิดแปลกแตกต่างกันหลายประการด้วยความยึดมั่นที่เหนียวแน่นที่สุด  เมื่อ ยึดถือต่างกันก็มีการโต้เถียงกัน  ว่านั่นต่างหากเป็นพระธรรม  นี่ต่างหากเป็นพระธรรม  แล้วแต่ผู้ยึดถือจะมองเห็นของตัวอย่างไร
     บางพวกได้ยึดถือเอาเครื่องมือ  หรือหนทางที่จะปฏิบัติ  เพื่อเข้าถึงพุทธรรมมาเป็นตัวพุทธรรมเสียเองก็มี  ให้พระธรรมเป็นดวง  เป็นแสง  เลื่อนลอยไปในอากาศ  เชิญไปไหนมาไหนได้อย่างพวกที่เชิญพระพุทธเจ้าข้างต้นก็มี
     ที่เป็นอย่างต่ำที่สุด  ถือเอาเล่มหนังสือหรือมัดพระคัมภีร์  เป็นตัวพระธรรมเสียเลยก็มี  เป็นการยึดฝ่ายวัตถุเกินไป  ทำนองเดียวกับเด็ก ๆที่ยึดเอาพระพุทรูปเป็นพระพุทธเจ้า.
     การที่ถือเอาพระคัมภีร์เป็นสิ่งศักสิทธิ์  ใช้เป็นประธานในพิธีสบถสาบาน  หรืออ้อนวอนเสี่ยงทายต่าง ๆ ก็โดยประสงค์จะให้พระธรรมนั้นเป็นของมีจิตวิญญาณตัวตนขึ้นมาให้ได้  ดังนี้เป็นต้น  นับว่าเป็นการตะครุบเอาผิด  เหมือนกับพวกที่ตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดมาแล้วเหมือนกัน
     ต้องการให้พระนิพพาน  หรือพุทธธรรมนั้น  เป็นบ้านเมือง  เป็นบ้านอันแสนสุข  สำหรับตนจะจุติไปเกิดที่นั่น  แล้วก็ตั้งการบำเพ็ญสมาธิเพื่อความเป็นอย่างนั้น  ทั้งนี้  ก็ด้วยอำนาจความยึดถือในด้านวัตถุอันแรงกล้านั่นเอง.
     ถ้าจะพิจารณาดูในส่วนธรรมะ  ที่เป็นตัววิถีทางการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธรรม  กล่าวคือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ก็จะพบว่า  กำลังถูกยึดถือขึ้นเป็นภูเขาขวางวิถีทางของตนเองอยู่อย่างเดียวกัน
บางพวกยึดถือศีลของตน จนดูหมิ่นผู้อื่น
     คนบางเหล่ายึดถือในศีลของตน  จนดูหมิ่นผู้อื่น  ก่อการแตกร้าวทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องศีล  เพราะความยึดมั่นถือมั่นในศีลด้วยความสำคัญผิด  ถือเสียอย่างเครื่องจักร  ยึดมั่นทุกตัวอักษรอย่างงมงาย  รักษาศีลจนตาย  ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีศีลบริสุทธิ์  แล้วตายไปด้วยความเศร้าใจอันนั้น  ถ้ามีคนพวกหนึ่งมากล่าวขึ้นว่าผู้ที่มีใจตรงแน่วแล้ว  การรักษาศีลหรือสมาทานศีล  เป็นของไม่จำเป็นเลย  เพราะมีศีลอยู่โดยปรกติเสียแล้วดังนี้  คนพวกที่ยึดมั่นในศีลก็จะค้านเสียงแข็งหาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิถึงกับทะเลาะกันก็ได้
     ธรรมที่เป็นฝ่ายปฏิบัติในชั้นต้น  กล่าวคือศีลนี้อาจเกิดเป็นภูเขาขึ้นขวางวิถีทางแห่งพุทธธรรมเมื่อใดก็ได้  ในเมื่อมีผู้ยึดถือว่ามันต้องเป็นอย่างนี้  ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้  ซึ่งมันเป็นความจริงของบุคคลคนนั้น  อย่างที่เขาจะเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย  แล้วก็ทำศีลให้เป็นภูเขาขวางทางของเขาเอง  มันยังผลให้เกิดขึ้น  คือความเนิ่นช้า  กว่าจะป่ายปีนภูเขาลูกนี้ข้ามพ้นไปก็นมนาน  หรือถึงกับตายเสียก่อนก็มีอยู่เป็นอันมาก
สมาธิที่ยึดถือก็เป็นภูเขาได้
     แม้ธรรมปฏิบัติซึ่งเป็น  ขั้นสมาธิ  นั้นเล่า  ก็ถูกยกขึ้นถือไว้อย่างเป็นภูเขาสกัดทางตัวเอง  ทำนอนเดียวกัน  เนื่องจากการปฏิบัติขั้นนี้สูงถึงขั้นพ้นระดับของสามัญชน  หรือที่เรียกว่าขั้นอุตริมนุษยธรรม  จึงเป็นที่ตั้งของความยึดถือโอ้อวดของผู้ปฏิบัติยิ่งไปกว่าขั้นศีล  ความพอใจหลงใหลในสมาธิของตน  ตามที่ตนปฏิบัติได้เพียงใร  ย่อมมีมากพอที่จะให้เผลอสติภูมิใจ  หรือถึงกับหลงใหลยึดถือ  ทั้งพวกที่ปฏิบัติผิดทางหรือปฏิบัติถูกทาง  ก็มีโอกาสที่จะยึดถือเท่ากัน
     บางคนเจริญสมาธิได้ถึงขนาดที่ได้รับรสอันเยือกเย็นของความสงบอันเกิดจากสมาธิ  ก็เป็นเอามากถึงกับยึดถือเอาว่านั่นเป็นพุทธธรรมขั้นสุดที่ตนได้ลุถึงเอาเสียทีเดียว  ทำนองเดียวกับที่ลัทธิบางลัทธิในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาล  ได้บัญญัติสมาธิขั้นจตุตถฌานว่าเป็นนิพพานมาแล้วนั่นเอง  แม้อันนี้ก็คือภูเขาซึ่งขวางชนิดหนึ่งเหมือนกัน  อันเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องพังทลายไปให้ได้.
บางพวกยึดสิ่งไม่ใช่สมาธิ  มาเป็นสมาธิ เช่น
สภาพวิญญาณศักดิ์สิทธิ์, พิธี, เป็นต้น
     แต่ว่าความที่เป็นอยู่จริง ๆในหมู่นักสมาธิบางหมู่นั้น  ยังอยู่ในขั้นที่หลงยึดเอาสิ่งซึ่งมิใช่สมาธิ มาเป็นสมาธิ  ตามกฏแห่งธรรมชาติที่ว่า "ความจริงของเขาคือเท่าที่เขารู้และพอใจยึดถือ" ดังนั้นจึงเกิดมีสมาธิอีกประเภทหนึ่ง  ซึ่งหนักไปในทางสี  ทางดวง  ทางภาพที่มาปรากฏอย่างแปลกประหลาด  และมีการเชื้อเชิญอ้อนวอน  ทำนองเชิญ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์  และใช้เป็นเครื่องมือในทางดูเหตุการณ์  ทำนายโชคชตาต่าง ๆ ตามแต่ประสงค์จะใช้  ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุ  แทนที่จะเป็นวิธีฝึกจิตเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมหรือนิพพาน  ตามความประสงค์เดิมของธรรรมปฏิบัติระบอบนี้ของพุทธศาสนา.
     ยิ่งกว่านั้นยังมีบางพวก  ไพล่ไปยึดถือรูปของพิธีรีตองต่าง ๆ  ที่เป็นบุพภาคของการทำสมาธิ  ตามแบบของคณะนั้นคณะนี้  ว่าเป็นสมาธิเสียเองก็มี  หรือยึดถือกิริยาอาการตามแบบแผนนั้น ๆ  ว่าเป็นตัวสมาธิ  อย่างงมงายทุกตัวอักษรไปเสียก็มี  โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่าความหมายอันแท้จริงของสมาธินั้น  คืออะไรดังนี้เป็นตัน
     แม้มีใครมากล่าวว่า  เมื่อตั้งจิตได้ตรงแน่วแล้ว  สมาธิก็เป็นเองโดยไม่มีพิธี  ดังนี้ก็ค้านเป็นเสียงเดียวกันทีเดียว  เขาไม่ยอมเชื่อโดยเหตุที่มีความยึดมั่นถือรั้นในสมาธิของตัว  ว่าเป็นความจริงอันเด็ดขาด
     ความยึดถือทั้งหมดนี้  เนื่องมาจากกฏธรรมชาติข้างต้นที่กล่าวแล้วว่า  ความจริงของใครก็เป็นความจริงของคนนั้น  ยากที่จะยอมเชื่อกันด้วยใจจริง  เมื่อยังหลงผิดอยู่ด้วยความยึดถือภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมก็ยังตั้งสูงตระหง่านขวางหน้าอยู่เพียงนั้น.
ธรรมปฏิบัติขั้นปัญญาก็ยังเป็นภูเขากั้นอยู่
     สำหรับธรรมปฏิบัติ  ที่เป็นขั้นปัญญานั้นถ้าเป็นปัญญาจริงตามชื่อของมันก็ดีไป  แต่ถ้า เป็นปัญญาที่ไม่รู้จักตัวเอง  ซึ่งมีมูลฐานตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อความคาดคะเน  หรือการเดาไปตามเหตุผลแล้ว  ก็ย่อมเกิดเป็นภูเขาขวางวิถีทางแห่งพุทธธรรมขึ้นเหมือนกัน  อีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า  เมื่อปัญญาของตนไปสิ้นสุดหยุดลงเพียงไหน  ก็บัญญัติเอาเพียงแค่ตรงนั้นว่าเป็นความจริงด้วยความบริสุทธิ์ใจของตน  และยึดมั่น  ดังจะเห็นได้จากการที่มีลัทธิศาสนาและปรัชญาต่าง ๆ เกิดขึ้น  และมีอยู่อย่างคับคั่งในโลกนี้  บางลัทธิเป็นปัญญาที่คมเฉียบก็มี  แต่ก็ไม่วายที่จะเป็นภูเขากั้นขวางทางอยู่ระหว่างตัวเขากับนิพพาน.
     แม้ในวงของพุทธศาสนาเอง  ก็มีปัญญาพวกที่เดินไปตามความตริตรึกตามอาการหรือเหตุแวดล้อม  จนไปตีวงล้อมขังตัวเองอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง  โดยไม่รู้สึกตัว  ยืนหยัดเสียงแข็งอยู่ว่าเป็นทางที่ถูกต้อง  แล้วก็ติดแจอยู่ในวงล้อมของภูเขาลูกนั้นออกมาไม่ได้.
     ทั้งนี้ก็เพราะเหตุอย่างเดียวกับพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ๆ  คือกฏธรรมชาติที่ว่า "ความจริงของเขา  คือเท่าที่เขารู้และพอใจ"  ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวย้ำให้ท่านผู้ฟังนึกทบทวนอยู่เสมอ ๆ  ปัญญาก็คือแสงสว่าง  แต่เหตุไฉนแสงสว่างจึงเป็นเครื่องบังเสียเอง  ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันเสียให้แน่ชัด  ก่อนที่จะผ่านไป.
ความรู้หรือปัญญาของเขาเป็นผู้บังความจริง
     เมื่อปัญญาเดิม ๆ  หรือความรู้ของเขา  ซึ่งเปรียบได้กับแสงสว่างมีอยู่ก่อนอย่างไร  แล้วส่องลงไปที่เหตุการณ์หรือเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่ง  เขาย่อมได้รับความรู้หรือความเข้าใจในเหตุการณ์นั้น ๆ  เพียงเท่าที่ปัญญาหรือแสงสว่างของเขาจะอำนวยให้  และเขาถือว่านั่นคือความจริง  ครั้นถึงสมัยอื่นเมื่อปัญญาเดิม ๆ  หรือความรู้ของเขาเปลี่ยนไปหรือก้าวหน้าไป  เขามองเหตุการณ์อันเดียวกันนั่นเอง  กลับไม่เห็นเหมือนกับที่เขาเห็นในครั้งก่อน  แต่นั่นเขาก็ถือว่าเป็นความจริง  สิ่งที่เรียกว่าความจริงของเขาเปลี่ยนไปตามอำนาจเวลา  หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดเจน  ก็คือเปลี่ยนไปตามแสงสว่างหรือปัญญาของเขานั่นเอง  ความแตกต่างในเรื่องนี้  จึงขึ้นอยู่กับแสงสว่างหรือปัญญาที่ส่องไปยังวัตถุนั้น  แต่ตัวความจริงแท้นั้น  ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน  เพราะทุกขณะก็เป็นความจริง (ของบุคคลนั้น  ในขณะนั้น) ไปหมด  เราจึงเห็นได้ว่า  แสงสว่างอันนั้นเอง  เป็นผู้บังความจริง  ทั้งในด้านจิตใจและด้านวัตถุ.
     ในด้านวัตถุ  เราอาจเห็นได้ง่าย ๆ  โดยพิจารณาดูในเรื่องอันเกี่ยวกับแสงสว่างนั่นเอง  วัตถุหรือสสารใด ๆ ก็ตาม  ที่มีอยู่ในโลกนี้ที่เราอาศัยแสงสว่างแล้วเห็นว่ามีสีสันอย่างนั้นอย่างนี้และถือว่าเป็นความจริงนั้น  ที่จริงมันอาจมีสีสันอย่างอื่นก็ได้แต่เราเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะมีแสงสว่างซึ่อำนวยการเห็นชนิดที่เรากำลังมีอยู่นี้.
     เราไม่มีแสงสว่างอื่นนอกจากแสงอาทิตย์   ซึ่งมีสเป็คตรัมที่เราเห็นได้เพียง ๗ สี  ถ้าเราเกิดมีแสงชนิดอื่น  ซึ่งมีสเป็คตรัมที่เราเห็นได้ถึง ๑๐๐ สีเล่า  เราจะมิพบความจริงของวัตถุที่เกียวกับสีกลายไปอย่างอื่นไปหรือ.
     มนุษย์เราถูกจำกัดเขตให้อยู่ในวงจำกัด  ได้รับแสงสว่างสำหรับจะเห็นอะไร  ก็จากแสงอาทิตย์  หรือเนื่องด้วยดวงอาทิตย์อย่างเดียว  แสงสว่างที่เรามีใช้จึงถูกจำกัดสมรรถภาพเพียงเท่านี้  และการเห็นสีต่าง ๆ  เพียงเท่านี้  ถ้าเกิดได้ดวงอาทิตย์ดวงอื่นมา  เราก็จะเห็นสีต่าง ๆ  เป็นอย่างอื่น
     นี่เราก็ต้องถือว่าสีอื่น ๆ  ซึ่งมีอยู่ในวัตถุนั้น ๆ  นอกไปจาก ๗ สีที่เราเห็นไม่ได้นั้น  ก็เพราะแสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงนี้มันหลอกเรา  ให้เราถือเอาเป็นความจริงว่าสีมีอยู่เพียงเท่านี้  เรียกว่าแสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงนี้  เป็นตัวที่บังความจริงอันเกี่ยวกับสีต่อเรา  โดยทำให้เราเข้าใจกันอย่างนี้เสียแล้ว.
     เมื่อใดเราได้แสงสว่าง  ซึ่งทำให้เห็นสเป็คตรัมมากสีออกไป  เราก็จะพบความจริงเรื่องเกี่ยวกับสีอย่างอื่นต่อไปอีก  แต่มันต้องเป็นโลกอื่นหรือในที่อื่น  ซึ่งไม่ต้องพึ่งอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ซึ่งมีแสงสเป็คตรัมให้เราเห็นเพียง ๗ สี  อย่างดวงนี้  สำหรับในบัดนี้นั้น  ความจริงนั้นอยู่ที่ตรงไหนกัน  มิใช่อยู่ที่ว่าสีมีเพียง ๗ สีดอกหรือ  แต่ความจริงที่แท้จริงนั้นเล่ามีเท่าไร  ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดในโลกนี้รู้  เพราะว่าเขาเป็นผู้ที่มีดวงอาทิตย์แต่ดวงนี้ดวงเดียวเท่านั้นเอง.
     แต่ถึงแม้ในโลกแห่งดวงอาทิตย์ดวงนี้ดวงเดียวก็ตาม  เราก็อาจจะพบว่าแสงสว่างเป็นเครื่องบังความจริงได้เหมือนกัน  เช่นเรามีวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นของไม่รู้ว่าเป็นสีอะไรมาก่อน  ในเวลากลางคืนเราเอามาดูด้วยแสงตะเกียง  ซึ่งไม่มีสีของสเป็คตรัมมากเต็มที่เหมือนแสงดวงอาทิตย์  เราก็ไม่อาจแน่ใจในเวลากลางคืนนั้นว่ามันเป็นสีอะไรแน่  ต้องเก็บไว้ดูตอนกลางวันถึงจะแน่  นี่ก็เพราะแสงตะเกียงมันมีสมรรถภาพเพียงเท่านั้น  และมันบังความจริง  ให้เราเข้าใจเป็นอย่างไป  หรือว่าความจริงส่วนที่เรายังไม่เห็นนั้น  ก็เพราะขาดแสงสว่างสำหรับเป็นคู่ส่องให้เห็นสิ่งนั้น. ฉะนั้นแสงสว่างชนิดหนึ่ง ๆ  ย่อมให้ความจริงแก่เราในการเห็นเป็นอย่างหนึ่ง ๆ  นอกนั้นก็คือเป็นส่วนที่แสงสว่างอันนั้นบังเอาไว้  ด้วยการทำให้เราเข้าใจเป็นอย่างอื่นไป.  นี่คือแสงสว่างที่บังความจริง.
                             คอยติดตามตอน๔ ขอบคุณ.....

   




   












































     























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น