วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ๒

คนบัญญัติความจริงตามระดับความสูงของจิต
     มนุษย์กำลังมีความจริงเป็นของตัวเองอยู่ทุกคน?  เพราะเหตุที่ความจริงหรือความสุขเพียงอย่างหนึ่ง ๆ  หรือขนาดหนึ่ง ๆ  ย่อมปรากฏแก่บุคคลคนหนึ่ง ๆ อยู่เสมอ  ซึ่งเขาก็รู้จักความจริงหรือความสุขของเขา  ในลักษณะหนึ่ง ๆ  ตามที่ปรากฏแก่ใจของบุคคลนั้น ๆ  ซึ่งเราควรจะกล่าวได้ว่า เขายังไม่รู้จักความจริงพอที่จะบัญญัติว่าความสุขที่แท้หรือถึงที่สุดนั้นเป็นอย่างไร  แต่เขาก็ยังบัญญัติกันอยู่เสมอ.ศาสดาก็บัญญัติ.สาวกก็บัญญัติ. ในเมื่อตนเกิดมีความจริงของตน  และไม่พอใจในคำสอนของศาสดา  เพราะเหตุนี้เองจึงได้เกิดมีมติหรือลัทธิต่าง ๆว่า  อะไรเป็นความจริง  อะไรเป็นความสุข ซึ่ง เป็นปัญหาเดียวกันกับปัญหาว่าอะไรเป็นนิพพาน.
เกิดมีผู้ที่มีความคิด เป็นอิสระ  บัญญัติสิ่งที่ปรากฏแก่ปัญญาหรือลงรอยกันได้กับความเชื่อของตน  ว่าอะไรเป็นความสุขขึ้นเสมอ ๆ  ในเรื่องนี้มีระดับสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันมาก  แล้วแต่กาละและเทศะ  จนกระทั่งความสนุกสนานเอร็ดอร่อยในทางวัตถุ คือ กามคุณ โดยเฉพาะ  ก็เคยถูกบัญญัติว่าเป็นความสุข  หรือจุดที่ปรารถนาของชีวิตมาแล้วเป็นต้น  หรือที่สูงขึ้นไปกว่านั้น  ซึ่งไม่ข้องแวะกับกามคุณ  แต่เป็นความสุขเกี่ยวกับความสงบของจิต  เป็นลำดับ ๆ ขึ้นไป  กล่าวคือ สมาธิต่าง ๆ ก็เคยถูกบัญญัติว่าเป็นความสุขอันสูงสุด  หรือเป็นพระนิพพานมาแล้วเหมือนกัน.
       นี่ก็มีมูลเหตุมาจากหลักอันตายตัวที่ว่า  ทำอย่างไรเสีย  คนเราบัญญัติความจริงได้เท่าที่ตนรู้สึกเอง เห็นอยู่กะใจเอง  จนเชื่อและพอใจเท่านั้น.
       ก่อนที่พระพุทธเจ้าจัตรัสรู้ขึ้นมานี้  ปรากฏว่า  นิพพานที่อยู่ในรูปอื่น  สักษณะอื่น  ก็เคยเป็นจุดหมายของความสุขมาแล้ว  เพราะเหตุว่าคนบัญญัติความสุขได้เท่าที่ตนรู้สึกเท่านั้นเอง  สูงไปกว่านั้นไม่ได้  เราผู้อ้างตัวเองเป็นพุทธบริษัท  นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา  ก็พลอยกระโดดแพล็บเดียวถึงขึ้นไปยึดถือเอาความสุขหรือพระนิพพานอย่างแท้จริง (ตามความเชื่อ)  ตามคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วย  ทั้ง ๆ ที่ใจหรือความรู้สึกนั้น  ไม่ได้รู้สึกซึมซาบความจริงหรือความสุขของนิพพานนั้นเลย.
       ข้อนี้เองเมื่อเกิดถกเถียงความจริงหรือความสุขหรือนิพพานจึงเป็นเรื่องที่ฟั่นเฝือ. ฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจกันเสียในตอนนี้ก่อนว่า  ความจริง  หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความจริง  เท่าที่มันเป็นไปในใจของเราจริง ๆ  ไม่ใช่บัญญัติอยู่ในคัมภีร์.  มันก็คือเท่าที่เรารู้และยึดถืออยู่เดียวนี้  นอกจากนั้นแล้วจะเป็นความจริงของผู้นั้นไปไม่ได้  เป็นความจริงของคัมภีร์ต่างหากหรืออย่างมากที่สุดก็เป็นความจริงของความจริง ซึ่งเราจะเอื้อมไปไม่ถึง.
ความจริงของตัวเราต้องไม่เป็นภูเขาขวางวิถีพุทธธรรม
       เราต้องลงมือ  จัดการความจริงของเราเอง  หรือที่เป็นไปในตัวเราเองก่อน  จึงจะไม่เกิดเป็นภูเขาขวางวิถีพุทธธรรมขึ้น  เหมือนอย่างหลักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุก็เหมือนกันที่จะถือว่าเป็นความจริงข้อหนึ่ง ๆ  ได้นั้น  มันถือได้เฉพาะหลักที่ปรากฏแก่การทดลองอย่างตายตัวแล้วเท่านั้น  เลยจากนั้นยังเป็นความจริงที่ยังไม่มีหลัก  หรือยังไม่พบ  และเมื่อพบแล้ว ความจริงที่พบก่อน  จะเป็นความจริงที่แน่นแฟ้นขึ้น  หรือไม่ก็กลายเป็นความเท็จไป  เพราะพบความจริงอันใหม่.
       การที่จะเดินไปได้ในฝ่าย ปฏิบัตินั้น  ต้องยึดเอาความจริงที่ที่กำลังเป็นอยุ่จริง ๆ เป็นประมาณ  แทนที่จะเอาความจริงของความเชื่อมาเป็นหลัก.  มิฉะนั้นแล้วก็ดำเนินไปไม่ได้  และรกหนาขึ้นเป็นภูเขาขวางทางเดินเสียเอง  ลักษณะเช่นนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดความฟั่นเฝือสับสนขึ้นในหมู่พวกเรา  ที่สนใจในพุทธธรรมหรือนิพพาน  เพราะมัวแต่จะไปจับเอาความจริง  ซึ่งไม่ใช่ของตัวมาบังคับให้ใจของเรารับเข้าไว้ว่าเป็นความจริง.  ส่วนธรรมชาติที่แท้จริงครอบงำเราอยู่  มันยอมให้ได้เพียงแต่ว่า "ใครจะรู้สึกว่าอะไรเป็นของจริงได้  ก็เพียงเท่าที่ใจของเรากำลังยึดถืออยุ่  ว่าเป็นความจริงเท่านั้น"  นอกนั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม  ย่อมไม่มีค่าที่จะเป็นความจริงแก่จิตใจของเขาในเวลานั้น  เขาจะต้องปรี่เข้าพังทลายความยึดถือให้ปัญญาของเขาก้าวหน้าต่อไป  แล้วความจริงของเขาก็เขยิบตามไปเอง  ในปัจจุบันนี้นั้น  ตัวเขาเองเป็นความจริงและความจริงของเขาก็คือ  ความยึดถือของเขาเองเท่านั้น
       เมื่อได้วางหลักอันเกี่ยวกับความจริงลงไปว่า  ตามที่เป็นอยู่ในใจของคนเราจริง ๆ นั้น  สิ่งที่เราเรียกว่าความจริง  ย่อมมีอยู่ต่าง ๆ กันตามความรู้สึก  และความยึดถือของเขาผู้นั้น  เป็นชั้น ๆ และเปนคน ๆ ไป  เฉพาะในขณะหนึ่ง ๆ อย่างนี้แล้ว  ก็ขอให้กำหนดถึงถ้อยคำที่จะกล่าวต่อไป  ให้มองเห็นว่า  เราจะพูดถึงความจริงโดยถูกต้องและตรงกันหมดได้อย่างไร  และเมื่อใด  ซึ่งมีใจความสั้น ๆ อยู่ว่าต้องภายหลังจากการที่ได้ผ่านทะเลภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมไปแล้ว.
                                  ความยึดถือของแต่ละคน
           เป็นภูเขาของแต่ละคน
     ตามหัวข้อของธรรมกถาในวันนี้  ซึ่งชื่อว่า  "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" นั้น เราจะได้พิจรานากันถึงสิ่งซึ่งกีดขวาง เป็นกำแพงมหึมาอยู่ข้างหน้า ซึ่งทำให้เราเข้าถึงพุทธธรรมไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เรามีความภักดีต่อพุทธธรรม หรือต่อศาสนาของเราอย่างเต็มที่อยู่เสมอ. ถ้าเผลิญข้อความที่ข้าพเจ้ากล่าวออกมา จะเป็นถ้อยคำที่อาจจะแปลก ก็ขอให้ท่านผู้ฟังพิจราณาด้วยความยุติธรรมไปก่อน.
อะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพาน?
     ตามที่เราสังเกตุเห็นได้ทั่วไป จนเกือบจะเรียกได้ว่ามีแก่ทุก ๆ คนนั้นคือ ถ้าเกิดตั้งปัญหาถามขึ้นว่าอะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่เราประสงค์จะเข้าถึงแล้ว เราจะพบคำตอบว่า "พระพุทธเจ้า" นั่นเอง กลับมาเป็นภูเขามหึมาปิดบังพระนิพพาน สภาพการณ์เช่นนี้กำลังมีอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัททั่ว ๆ ไป ซึ่งถ้ากล่าวให้สั้น ๆ ตรง ๆที่สุดก็กล่าวว่า ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรมก็เพราะว่า "พระพุทธเจ้า ตามทัศนะของท่าน" ขวางหน้าท่านอยู่.
พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขานั้นเป็นภูเขา
     ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเห็นว่า ถ้อยคำข้างบนนี้ เป็นคำแกล้งกล่าวอย่างอุตริ ตามธรรมดา พุทธบริษัทแต่ละคน ต่างก็มี"พระพุทธเจ้า"ของตนเป็นเครื่องยึดถือ.ถ้าเขายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง เขาก็ย่อมทึกทักเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าไปก่อน ไม่เป็นคนว้าเหว่ เขาจะต้องมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นองค์พระพุทธเจ้าของเขา เช่นเดียวกับตัวความจริง ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ใครรู้อะไร เพียงเท่าไหน ก็เป็นความจริงของเขาเพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเข้าใจว่า อะไรเป็นพระพุทธเจ้า สิ่งนั้นก็เกิดเป็น"พระพุทธเจ้าของเขา" ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกขนานนามว่า "พระพุทธเจ้า" จึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความยึดถือของคนเป็นชั้น ๆไป.
     สำหรับ เด็กเล็ก ๆ ถ้าถามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า? ก็จะมีความรู้สึกในตัววัตถุบางอย่าง เช่นพระพุทธเจ้าในโบสถ์ เป็นต้น ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจเป็นตุ๊กตาชนิดหนึ่งก็ได้ ทำด้วยอิฐด้วยปูน หรือทองเหลืองทองคำก็ได้ เด็กที่เล็กที่สุดมีความรู้สึกว่านั่นเป็นพระพุทธเจ้าของเขา จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ไม่ได้ แต่เราก็ยกเว้นเป็นการให้อภัยแก่เด็ก
     ทีนี้ก็มาถึง คนโต ๆ เป็นผู้ใหญ่แล้ว กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ซึ่งมีการกล่าว พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ อยู่ทุก ๆ คราวที่มีการรับศีลฟังธรรมเทศนา ซึ่งกว่าจะตายก็นับได้ร้อยครั้งพันครั้ง ในปัญหาเดียวกันที่ว่า อะไรเป็นพระพุทธเจ้าของเขา? เราก็ยังกล้ากล่าวได้อีกเหมือนกันว่า ไม่มีเหมือนกันทุกคน.ต่างคนหรือต่างพวก ล้วนแต่มีพระพุทธเจ้าของตัว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
     คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้าแต่ในทางวัตถุ ไม่สูงถึงทางจิตก็ย่อมมีความรู้สึกของตัวเองถึงสมัยเมื่อสองพันปีกว่ามาแล้ว ว่ามีเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่ง เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ในประเทศอินเดียและนั่นคือองค์พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ซึ่งข้อนี้จะดีไปกว่าที่จะเห็นเป็นทองเหลืองหรือทองคำที่เขาหล่อเป็นพระพุทธรูปเพียงนิดหน่อยเท่านั้น.
     ถ้าว่ากันโดยความจริงในด้านวัตถุแล้ว สำหรับเลือดเนื้อกลุ่มนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้ามากไปกว่าในก้อนทองเหลืองทองแดงไปไม่ได้เลย.มิหนำซ้ำ พระองค์เองยังทรงปฏิเสธ ว่า นั่นไม่ใช่ตถาคต. คนที่ไม่เห็นธรรมะ หรือที่เรียกว่าพุทธธรรมในที่นี้ คือคนที่ไม่เห็นตถาคต"แม้เขาจะคอยจับมุมจีวรของเราดึงเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย" พระองค์ทรงปฏิเสธไว้อย่างนี้ ซึ่งเรากล่าวได้ว่าเป็นการตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดเข้าอีกครั้งหนึ่ง และควรได้รับอภัยทำนองเดียวกับเด็กเล็ก ๆ ข้างต้นนั้นเหมือนกัน.
         คอยพบ "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม๓" เร็ว ๆ นี้
     
                    
     
    


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น